วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

รถของกลาง

หมวด 4 
รถของกลาง 

                 ข้อ 69  การจะใช้อำนาจยึดรถของกลางไม่ว่ากรณีใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องคำนึงด้วยว่ามีกฎหมายให้อำนาจที่จะยึดไว้เป็นรถของกลางได้เพียงใดหรือไม่ ในกรณีที่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์รถของกลาง เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรยึดรถของกลางไว้ แต่ให้แนะนำคู่กรณีไปดำเนินการฟ้องร้องกันเองทางศาล สำหรับรถของกลางนั้น ให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุผลที่ไม่ยึดรถของกลาง รวมทั้งพฤติการณ์แห่งเรื่อง ไว้ให้ปรากฏในบันทึกรายงานประจำวันด้วย
                  กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถของกลางไว้แล้ว ให้ผู้ยึดหรือผู้จับกุมรีบนำรถดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวนโดยด่วน หากนำส่งล่าช้าให้บันทึกเหตุผลในการนำส่งล่าช้าไว้ด้วย และให้พนักงานสอบสวนประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิเพื่อมาขอรับรถคืนไป

                 ข้อ 70  เมื่อพนักงานสอบสวนได้ประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิรับรถคืนครบกำหนด 6 เดือนนับแต่วันยึดรถแล้ว และพนักงานสอบสวนเห็นว่ารถของกลางนั้นอาจหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สิน และไม่เป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ทางคดีต่อไป ให้เสนอต่อผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาด ดำเนินการขายทอดตลาดตามข้อ 76 แต่ก่อนจะขายทอดตลาด พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามข้อ 71 ข้อ 72 ข้อ 74 และข้อ 75 แล้ว
                  ในกรณีที่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์รถของกลาง และเมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ให้พนักงานสอบสวนฟังผลการพิจารณาของศาลก่อน แล้วจึงจะดำเนินการตามระเบียบนี้ต่อไป

                 ข้อ 71  ให้พนักงานสอบสวนและผู้นำส่งรถของกลางลงบันทึกไว้ในรายงานประจำวันให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับรถของกลาง อันจะเป็นเหตุให้เจ้าของหรือผู้มีสิทธิจะรับรถของกลางคืนนั้น ทราบว่าเป็นรถของตนและสามารถพิสูจน์ได้ตามมาตรา 1327 วรรคสอง แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อความในบันทึกให้มีรายการดังต่อไปนี้
                  (1) ลักษณะรถ
                  (2) หมายเลขทะเบียนรถ
                  (3) ประเภทรถ
                  (4) ชื่อชนิดรถ (แบบ/รุ่น/ปีที่ผลิต)   
                  (5) สี (ถ้ามีหลายสีให้ลงรายละเอียดให้ชัดเจน) 
                  (6) เลขหมายเครื่องยนต์และเลขหมายตัวถัง รวมทั้งตำแหน่งที่อยู่ของเลขหมายดังกล่าว
                  (7) อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวรถของกลาง เช่น วิทยุ เครื่องเสียง เครื่องมือ ล้ออะไหล่ ฯลฯ 
                  (8) รายละเอียดอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อบ่งชี้ลักษณะของรถ

                ข้อ 72  ในระหว่างดำเนินการตามข้อ 69 ข้อ 70 และข้อ 71 ให้พนักงานสอบสวนทำการสืบสวนหาผู้ที่เป็นเจ้าของรถ หรือที่มาของรถ โดยไม่ชักช้า และดำเนินการดังต่อไปนี้
                  (1) ตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนรถ
                  (2) ตรวจสอบใบคู่มือจดทะเบียนรถ
                  (3) ตรวจสอบป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปี
                  (4) สอบถามไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรว่ามีการแจ้งหายที่ได้หรือไม่ ถ้ามีการแจ้งหายในท้องที่ของสถานีตำรวจใด ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบติดต่อกับท้องที่นั้น ให้นำหลักฐานการแจ้งหายมาแสดง เพื่อขอรับรถหรือพิสูจน์ความเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิ มาขอรับรถต่อไป
                 ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรดำเนินการตรวจสอบและแจ้งผลการดำเนินการให้พนักงานสอบสวนทราบโดยมิชักช้า

                ข้อ 73  หากปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของรถหรือผู้มีสิทธิจะรับรถ ก็ให้ติดต่อผู้นั้นมาขอรับรถคืนไป

                ข้อ 74  หากผลการตรวจสอบปรากฏว่ายังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของรถหรือผู้มีสิทธิขอรับรถ ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางดำเนินการโดยเร่งด่วน ดังนี้
                   (1) กรณีไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนรถ ต้องตรวจสอบเลขหมายเครื่องยนต์เลขหมายตัวถัง แล้วแจ้งเลขใหม่ดังกล่าวพร้อมชื่อ ชนิดรถ (แบบ/รุ่น/ปีที่ผลิต) ชื่อเครื่องยนต์ เพื่อตรวจสอบไปยัง 
                         ก) กรมการขนส่งทางบก
                         ข) บริษัทตัวแทนจำหน่าย
                         ค) บริษัทผู้ผลิต
                         ง) กองทะเบียนประวัติอาชญากร
                   (2) กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเลขหมายเครื่องยนต์หรือเลขหมายตัวถัง ต้องนำรถของกลางส่งกองพิสูจน์หลักฐานกลาง หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10  เพื่อตรวจสอบเลขหมายที่แท้จริง หากทราบเลขใหม่แล้ว ให้ดำเนินการตรวจสอบตาม (1) เพื่อทราบตัวเจ้าของรถต่อไป ถ้าไม่ทราบเลขหมายที่แท้จริง ให้ส่งรถของกลางไปให้บริษัทผู้ผลิต เพื่อตรวจสอบเลขหมายที่แท้จริงต่อไป และผลการตรวจสอบของบริษัทตัวแทนจำหน่ายหรือบริษัทผู้ผลิต ไม่ปรากฏว่ามีบริษัทใดเป็นผู้นำเข้าหรือเป็นผู้ผลิต ก็ให้ตรวจสอบว่าเป็นรถที่มีผู้นำเข้าโดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ หากไม่ปรากฏหลักฐานการเสียภาษีศุลกากร ก็ให้ส่งรถของกลางดังกล่าวให้กรมศุลกากรดำเนินการตามกฏหมายว่าด้วยศุลกากรต่อไป

                ข้อ 75  การตรวจสอบหลักฐานหรือส่งรถของกลางไปตรวจพิสูจน์ตามข้อ 72 และข้อ 74 ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันยึดรถ หากไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนด ให้เสนอขออนุมัติขยายเวลาต่อผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดตามข้อ 76 เพื่อพิจารณาสั่งการ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้ดำเนินการขายทอดตลาดไป

                ข้อ 76  เมื่อได้ประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิตามข้อ 69 และข้อ 70 ให้ดำเนินการตามข้อ 74 แล้ว ไม่มีบุคคลใดมาแสดงความเป็นเจ้าของรถของกลางดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บังคับการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาด และให้ผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดตั้งคณะกรรมการขายทอดตลาดไม่น้อยกว่า 3 นาย ประกอบด้วยสารวัตรขึ้นไปอย่างน้อย 1 นาย และกรรมการอื่นๆ ต้องเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินการขายทอดตลาด
                ข้อ 77  ก่อนขายทอดตลาดให้คณะกรรมการขายทอดตลาดตามข้อ 76 ดำเนินการประเมินราคารถจากห้างร้านอย่างน้อย 3 ร้าน เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบราคากลางและให้ใช้ราคาประเมินที่สูงที่สุดจากจำนวน 3 ร้าน เป็นราคาขายทอดตลาดเพื่อให้ทางราชการได้รับประโยชน์สูงสุด

                ข้อ 78  สำหรับวิธีการขายทอดตลาดให้ปฏิบัติตามกฏหมายหรือระเบียบที่ว่าด้วยการนั้น

                ข้อ 79  เมื่อขายทอดตลาดได้เงินจำนวนเท่าใด ให้นำเงินดังกล่าวฝากไว้ที่กองบังคับการหรือกองบัญชาการต้นสังกัดที่เป็นหน่วยงานผู้เบิก เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 1327 แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังไม่มีผู้ใดแสดงความเป็นเจ้าของ ให้นำเงินดังกล่าวส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน หากระหว่างนั้นมีผู้มาแสดงความเป็นเจ้าของรถของกลาง ให้ตรวจสอบหลักฐานให้แน่ชัดแล้วให้คืนเงินดังกล่าวแก่ผู้นั้น โดยขออนุมัติจากผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดตามข้อ 76 เสียก่อน

                ข้อ 80  เมื่อได้รับรายงานจากพนักงานสอบสวนตามข้อ 70 ว่ารถของกลางนั้น หากหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สิน และไม่เป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ทางคดีต่อไป ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดตามข้อ 76 พิจารณา หากเห็นชอบด้วยก็ให้ดำเนินการขายทอดตลาดรถของกลางนั้นตามวิธีการดังกล่าวข้างต้น

(ข้อคิดเห็น - การยึดรถต้องคำนึงถึงกฎหมายที่ให้อำนาจไว้แล้ว โดยรีบมอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อบันทึกรายละเอียดและสืบสวนจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน เพื่อหาผู้มีสิทธิมารับคืน ถ้าครบกำหนด 6 เดือน แล้วรถจะเสียหาย ก็ให้ดำเนินการขายทอดตลาดก็ได้ แต่ถ้ามีการฟ้องร้องโต้แย้งกันในชั้นศาล ก็ให้ฟังผลการตัดสินคดีก่อน)