วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566

คืนของกลางระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด

ลักษณะ 3 
การคืนของกลางในระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด

หมวด 1
การขอรับของกลางคืนในชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ 
หรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์

             ข้อ 30  กรณีของกลางที่เจ้าพนักงานยึดไว้ระหว่างการสอบสวน หากมิใช่เป็นของกลางที่มีไว้เป็นความผิด แต่เป็นของกลางซึ่งได้มาจากการกระทำความผิด หรือเป็นของกลางที่ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นของกลางที่ใช้เป็นพยานหลักฐานได้   เจ้าของหรือผู้มีสิทธิตามกฎหมายในของกลางนั้นมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดกับผู้กระทำความผิด มีสิทธิขอคืนของกลางที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ได้
            การอนุญาตคืนของกลางที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ในระหว่างการสอบสวน พนักงานสอบสวนจะคืนของกลางนั้นโดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและมีหลักประกันด้วยก็ได้
            การเก็บรักษาเงินประกัน หลักทรัพย์ประกัน การดำเนินการเกี่ยวกับกรณีมีบุคคลเป็นประกันและการบังคับสัญญาประกัน รวมทั้งการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้นำระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวมาใช้บังคับโดยอนุโลม

            ข้อ 31  คำร้องขอคืนของกลาง ให้ระบุรายละเอียดตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดวิธีการขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์

หมวด 2 
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง

            ข้อ 32  บุคคลต่อไปนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางที่เจ้าพนักงานได้ยึดไว้
            (1)  เจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ 
            (2)  ผู้มีสิทธิตามกฏหมาย เช่น สิทธิครอบครองหรือสิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอย่างอื่นที่กฎหมายได้รับรอง 

หมวด 3 
การยื่นคำร้อง

             ข้อ 33  ในกรณีที่คดีอยู่ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือพนักงานสอบสวนซึ่งปฎิบัติหน้าที่เวรสอบสวนในขณะนั้น มีหน้าที่รับคำร้องและเป็นคู่สัญญาประกัน

              ข้อ 34  หากส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว ให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการ

              ข้อ 35  กรณีคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่แจ้งถึงสิทธิขอคืนของกลางและการยื่นคำร้องให้ผู้มีสิทธิทราบ

หมวด 4 
การพิจารณาและการอนุญาต

             ข้อ 36  เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือพนักงานสอบสวนซึ่งปฏิบัติหน้าที่เวรสอบสวนในขณะนั้นรับคำร้องแล้ว ให้เสนอคำร้องพร้อมด้วยสัญญาประกันที่ตนเป็นคู่สัญญา และบันทึกเสนอสัญญาประกันไปยังผู้มีอำนาจโดยเร็ว
             คำร้องขอคืนของกลาง สัญญาขอคืนของกลางและสัญญาประกัน บันทึกเสนอสัญญาประกัน หนังสือแจ้งการขอรับของกลางไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ ให้บันทึกตามแบบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด

             ข้อ 37  ให้หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน หรือผู้รักษาการแทนมีอำนาจอนุญาตคืนของกลางนั้น

              ข้อ 38  เมื่อได้รับคำร้องขอคืนของกลางแล้ว ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตตามข้อ 37 มีคำสั่งภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถมีคำสั่งได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้แจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบโดยไม่ชักช้า

               ข้อ 39 ในชั้นพนักงานอัยการ การพิจารณาและอนุญาตให้เป็นดุลยพินิจและเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของพนักงานอัยการ
               หากพนักงานอัยการมีคำสั่งอนุญาต หรือไม่อนุญาต หรือสั่งการเกี่ยวกับของกลางนั้นอย่างไร ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการ 
               ให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่แจ้งคำสั่งตามวรรคหนึ่งให้ผู้ยื่นคำร้องขอคืนของกลางทราบ

               ข้อ 40  ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล หากศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับของกลางแล้ว ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโดยเคร่งครัด

หมวด 5 
การส่งคืนของกลางในระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด

               ข้อ 41  ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตส่งคืนของกลางตามระเบียบนี้ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือพนักงานงานสอบสวนซึ่งปฎิบัติหน้าที่เวรสอบสวนในขณะนั้น เป็นผู้รับคืน
                การรับคืนของกลางตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนผู้รับคืน ตรวจสอบสภาพร่องรอยและความถูกต้องของของกลางนั้น และจัดทำบันทึกให้ผู้รับอนุญาตลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน  

               ข้อ 42 ของกลางที่ส่งคืน ต้องคงสภาพเดิมที่เป็นอยู่ขณะที่ได้รับมอบไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ หากมีการเสื่อมสภาพ ต้องเป็นการเสื่อมโดยสภาพของของกลางนั้นเอง หรือเสื่อมสภาพเนื่องจากการใช้งานตามปกติ
               กรณีตรวจพบว่าของกลางนั้นมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ ซึ่งอาจทำให้การพิสูจน์ของกลางในคดีเปลี่ยนแปลงไปหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด หากการกระทำนั้นเป็นการกระทำความผิดอาญา ให้พิจารณาดำเนินคดีแก่ผู้ได้รับอนุญาตนั้นตามกฏหมายด้วย

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป ขอคืนของกลางได้ทั้งในชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นศาล แต่ต้องไม่เป็นของกลางที่มีไว้เป็นความผิดต่อกฎหมาย เจ้าของต้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด การขอคืนให้ดำเนินการเช่นเดียวกับการขอปล่อยตัวชั่วคราว เจ้าของรวมถึงผู้มีสิทธิครอบครองหรือยึดหน่วงก็มีสิทธิขอคืนได้ ถ้าสำนวนการสอบสวนอยู่ในชั้นใดก็ให้ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่พิจารณาคดีในชั้นนั้น เช่น กรณียื่นในชั้นสอบสวน ก็ให้พนักงานสอบสวนรับไว้เพื่อเสนอผู้มีอำนาจมีคำสั่งภายใน 7 วัน ถ้ายื่นในชั้นพนักงานอัยการก็ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของพนักงานอัยการ ถ้ายื่นในชั้นศาลก็ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งของศาล  กรณีส่งคืนของกลางก็ให้พนักงานสอบสวนรับไว้แล้วตรวจสอบสภาพ หากพบว่ามีการทำให้ของกลางเปลี่ยนแปลงไปเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดอาญา ก็ให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย)
*ที่มา - ระเบียบ ตร.ว่าด้วยการเก็บรักษาและการจำหน่ายของกลาง พ.ศ.2565