วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลาง

ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี
ลักษณะ ๑๕ ของกลางและของส่วนตัวผู้ต้องหา
บทที่ ๙ การปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลาง
               เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการยึดรถของกลางในคดีอาญาไว้เป็นจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาสถานที่เก็บรักษาไม่เพียงพอ และหากเจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บรักษาไว้เป็นเวลานาน หรือมอบให้ผู้อื่นเก็บรักษาไว้ ย่อมเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือเป็นเหตุให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินส่วนกับค่าของรถของกลาง จึงเป็นการสมควรที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลางไว้ดังนี้
              ข้อ ๑. "รถ" หมายถึง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถพ่วง รถบดถนน รถแทรคเตอร์ รถใช้งานเกษตรกรรม รถจักรยาน เกวียน รถลาก รถจ้าง
              ข้อ ๒. "รถของกลาง" หมายถึง รถซึ่งตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าพนักงาน โดยอำนาจแห่งกฎหมาย หรือโดยหน้าที่ทางราชการ และยึดไว้เพื่อพิสูจน์ในทางคดี หรือเพื่อจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการ
              ข้อ ๓. การจะใช้อำนาจยึดรถของกลางไม่ว่าในกรณีใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องคำนึงด้วยว่า มีกฎหมายให้อำนาจที่จะยึดไว้เป็นรถของกลางได้เพียงใดหรือไม่ ในกรณีที่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์รถของกลาง เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรยึดรถของกลางไว้ แต่ให้แนะนำคู่กรณีไปดำเนินการฟ้องร้องกันเองทางศาล สำหรับรถของกลางนั้นให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุผลที่ไม่ยึดรถของกลาง รวมทั้งพฤติการณ์แห่งเรื่องไว้ให้ปรากฏในบันทึกรายงานประจำวันด้วย
                เจ้าหน้าทีตำรวจได้ยึดรถของกลางไว้แล้ว ให้ผู้ยึดหรือผู้จับกุมรีบนำรถดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวนโดยด่วน หากนำส่งล่าช้าให้บันทึกเหตุผลในการนำส่งล่าช้าไว้ด้วย และให้พนักงานสอบสวนประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิเพื่อมาขอรับคืนต่อไป
             ข้อ ๔. ผู้มีหน้าที่เก็บรักษารถของกลาง
                       ๔.๑  สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สารวัตรใหญ่ หรือสารวัตรที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบหน่วยงาน หรือผู้รักษาการในตำแหน่ง หรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน แล้วแต่กรณี
                       ๔.๒  สำหรับในจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ รองผู้บังคับการ(ทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด)จังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด...เขต สารวัตรใหญ่ หรือสารวัตรที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบหน่วยงาน หรือผู้รักษาการในตำแหน่ง หรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน แล้วแต่กรณี
                       ๔.๓  ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษารถของกลาง ตามข้อ ๔.๑ และ ๔.๒ เก็บรักษารถของกลางไว้ภายในบริเวณสถานที่ทำการของตนหรือสถานที่อื่นใด ตามที่ผู้กำกับการตำรวจนครบาล รองผู้บังคับการ(ทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด)จังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด...เขต กำหนดแล้วแต่กรณี โดยการเก็บรักษาให้ใช้ความระมัดระวังตรวจตรารถของกลางให้เป็นอยู่ตามสภาพเดิมเท่าที่สามารถจะรักษาไว้ได้
                        ในกรณีจำเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อาจจะกำหนดสถานที่เก็บรักษารถของกลางไว้เป็นการเฉพาะก็ได้
              ข้อ ๕. เมื่อพนักงานสอบสวนได้ประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิรับรถคืน ครบกำหนด ๖ เดือน นับแต่วันยึดรถแล้ว และพนักงานสอบสวนเห็นว่า รถของกลางนั้น หากหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สิน และไม่เป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ทางคดีต่อไป ก็ให้เสนอต่อผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดดำเนินการขายทอดตลาด ตามข้อ ๑๕ แต่ก่อนจะขายทอดตลาด พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๙ และข้อ ๑๐ แล้ว
                 ในกรณีที่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์รถของกลาง และเมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ให้พนักงานสอบสวนรอฟังผลการพิจารณาของศาลก่อนแล้วจึงจะดำเนินการตามข้อบังคับนี้ต่อไป

              ข้อ ๖. ให้พนักงานสอบสวนและผู้นำส่งรถของกลาง ลงบันทึกในรายงานประจำวันให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับรถของกลาง  อันจะเป็นเหตุให้เจ้าของหรือผู้มีสิทธิจะรับรถของกลางคืนนั้น ทราบว่าเป็นรถของตนและสามารถพิสูจน์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๒๗ วรรคสอง ข้อความในบันทึกให้มีรายการดังต่อไปนี้
                      ๖.๑  ลักษณะรถ
                      ๖.๒  หมายเลขทะเบียนรถ
                      ๖.๓  ประเภทรถ
                      ๖.๔  ชื่่อ ชนิดรถ  (แบบ/รุ่น/ปีที่ผลิต)
                      ๖.๕  สี (ถ้ามีหลายสีให้ลงรายละเอียดให้ชัดเจน)
                      ๖.๖  เลขหมายเครื่องยนต์และเลขหมายตัวถังรถ รวมทั้งตำแหน่งที่อยู่ของเลขหมายดังกล่าว
                       ๖.๗  อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวรถของกลาง เช่น วิทยุ เครื่องเสียง เครื่องมือ ล้ออะไหล่ เป็นต้น
                       ๖.๘  รายละเอียดอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อบ่งชี้ลักษณะของรถ
              ข้อ ๗.  ในระหว่างดำเนินการตามข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๖ ให้พนักงานสอบสวนทำการสืบสวนหาผู้เป็นเจ้าของหรือที่มาของรถโดยมิชักช้า และดำเนินการดังต่อไปนี้
                       ๗.๑  ตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนรถ
                       ๗.๒  ตรวจสอบใบคู่มือจดทะเบียนรถ
                       ๗.๓  ตรวจสอบป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปี
                       ๗.๔  สอบถามไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ามีการแจ้งหายที่ใดหรือไม่ ถ้ามีการแจ้งหายในท้องที่ของสถานีตำรวจใด ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบติดต่อกับท้องที่นั้นให้นำหลักฐานการแจ้งหายมาแสดงเพื่อขอรับรถหรือพิสูจน์ความเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิเพื่อมาขอรับรถต่อไป
                      ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบและแจ้งผลการดำเนินการให้พนักงานสอบสวนทราบโดยมิชักช้า
               ข้อ ๘.  หากปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของรถหรือผู้มีสิทธิจะรับรถ ก็ให้ติดต่อผู้นั้นมาขอรับรถคืนไป
               ข้อ ๙.  หากผลการตรวจสอบปรากฏว่ายังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของรถหรือเป็นผู้มีสิทธิของรับรถ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือสารวัตรใหญ่ หรือสารวัตรที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบหน่วยงาน หรือสารวัตรสถานีตำรวจนครบาล หรือสารวัตรสถานีตำรวจภูธรอำเภอ หรือสารวัตรสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอ หรือสารวัตรสถานีตำรวจภูธร หรือผู้รักษาการในตำแหน่ง หรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ปฏิบัติราชการแทนที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป ดำเนินการโดยเร่งด่วน
                      ๙.๑  กรณีไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนรถ ต้องตรวจสอบเลขหมายเครื่องยนต์ เลขหมายตัวถังรถ แล้วแจ้งหมายเลขดังกล่าวพร้อมชื่อ ชนิดรถ (แบบ/รุ่น/ปีที่ผลิต) ชื่อเครื่องยนต์ เพื่อตรวจสอบไปยัง
                             ๙.๑.๑  กรมการขนส่งทางบก
                             ๙.๑.๒  บริษัทตัวแทนจำหน่าย
                             ๙.๑.๓  บริษัทผู้ผลิต
                             ๙.๑.๔  กองทะเบียนประวัติอาชญากร  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
                             ๙.๑.๕  ศูนย์ประมวลข่าวสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
                      ๙.๒  กรณีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหมายเลขเครื่องยนต์หรือเลขหมายตัวถังรถ ต้องนำรถของกลางส่งกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกองกำกับการตำรวจวิทยาการ กองบังคับการตำรวจภูธร เพื่อตรวจสอบหมายเลขที่แท้จริง ถ้าทราบเลขหมายแล้ว ก็ให้ดำเนินการตรวจสอบตามข้อ ๙.๑  เพื่อทราบตัวเจ้าของรถต่อไป
                          ถ้าไม่ทราบเลขหมายที่แท้จริง ให้ส่งรถของกลางไปให้บริษัทผู้แทนจำหน่ายหรือบริษัทผู้ผลิต เพื่อตรวจสอบเลขหมายที่แท้จริงต่อไป และถ้าผลการตรวจสอบของบริษัทตัวแทนจำหน่ายหรือบริษัทผู้ผลิตไม่ปรากฎว่ามีบริษัทใดเป็นผู้นำเข้าหรือเป็นผู้ผลิต ก็ให้ตรวจสอบว่าเป็นรถที่มีผู้นำเข้าโดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์หรือไม่
                          หากไม่ปรากฏหลักฐานการเสียภาษีศุลกากร ก็ให้ส่งรถของกลางดังกล่าวให้กรมศุลกากรดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรต่อไป
             ข้อ ๑๐.  การตรวจสอบหลักฐานหรือส่งรถของกลางไปตรวจพิสูจน์ตามข้อ ๗ และข้อ ๙ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลา ๓ เดือน นับแต่วันยึดรถ หากไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนดให้เสนอขออนุัติขยายเวลาต่อผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดตามข้อ ๑๑ เพื่อพิจารณาสั่งการ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป
             ข้อ ๑๑.  เมื่อได้ประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิตามข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ และดำเนินการตามข้อ ๙ แล้ว ไม่มีบุคคลใดมาแสดงความเป็นเจ้าของรถของกลางดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้มีอำนาจขายทอดตลาด ดังนี้
                      ๑๑.๑  เขตกรุงเทพมหานคร
                                ให้ผู้บังคับการหรือเทียบผู้บังคับการ เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดและให้ผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาด ตั้งคณะกรรมการขายทอดตลาดไม่น้อยกว่า ๓ นาย ประกอบด้วย สารวัตรขึ้นไปอย่างน้อย ๑ นาย และกรรมการอื่น ๆ ต้องเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินการขายทอดตลาด
                      ๑๑.๒  สำหรับในจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ถือปฏิบัติตามข้อบังคับการเก็บรักษาของกลาง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๘๐ ส่วนที่ ๓ หมวด ๑ ว่าด้วยวิธีการขายทอดตลาด
             ข้อ ๑๒.  ก่อนการขายทอดตลาดให้คณะกรรมการขายทอดตลาด ข้อ ๑๑.๑ ดำเนินการประเมินราคาจากห้างร้านอย่างน้อย ๓ ร้าน เพื่อใช้พิจารณาเปรียบเทียบราคากลาง
             ข้อ ๑๓.  สำหรับวิธีขายทอดตลาดให้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบที่ว่าด้วยการนั้น
             ข้อ ๑๔.  เมื่อขายทอดตลาดได้เงินจำนวนเท่าใด ให้นำเงินดังกล่าวฝากไว้ที่กองการเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือคลังจังหวัด เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๒๗ ยังไม่มีผู้ใดแสดงความเป็นเจ้าของ ให้เงินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน หากระหว่างนั้นมีผู้มาแสดงความเป็นเจ้าของรถของกลาง ให้ตรวจสอบหลักฐานให้แน่ชัด แล้วให้คืนเงินดังกล่าวแก่ผู้นั้น โดยขออนุมัติจากผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดตามข้อ ๑๑ เสียก่อน
              ข้อ ๑๕.  เมื่อได้รับรายงานจากพนักงานสอบสวน ตามข้อ ๕ ว่ารถของกลางนั้นหากหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สินและไม่เป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ทางคดีต่อไป ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดตามข้อ ๑๑ พิจารณา หากเห็นชอบด้วยก็ให้ดำเนินการขายทอดตลาดรถของกลางนั้นตามวิธีการดังกล่าวข้างต้น

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
-  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บรรพ 3  เอกเทศสัญญา  ลักษณะ 1 ซื้อขาย  หมวด 4 การซื้อขายเฉพาะบางอย่าง  ส่วนที่ 3 ขายทอดตลาด  มาตรา 509-517  , บรรพ 4  ทรัพย์สิน  ลักษณะ 2 กรรมสิทธิ์  หมวด 1 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์  มาตรา 1327