วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

การเก็บรักษาของกลาง

 ลักษณะ 2  การเก็บรักษาของกลาง
    หมวด 1  ของกลางในคดีอาญา    (ข้อ 12 - ข้อ 18

                 ข้อ 12  การเก็บรักษาของกลาง ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
                 (1)  เมื่อของกลางสิ่งใดมาถึงสถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนจดรูปพรรณสิ่งของลงในรายงานประจำวัน และสมุดยึดทรัพย์ของกลางคดีอาญา แล้วเขียนเลขลำดับที่ยึดทรัพย์ติดไว้กับสิ่งของนั้นให้มั่นคง อย่าให้หลุดหรือสูญหายได้ แล้วส่งมอบของกลางให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการ เก็บรักษาของกลางไว้ตามระเบียบนี้ 
                 (2)  หากของกลางเป็นเอกสารสำคัญหรือเป็นสิ่งของมีค่ามาก เช่น เครื่องเพชร เครื่องทองรูปพรรณ เงินตราต่างประเทศ ก่อนการเก็บรักษาไว้ตาม (1) หากพนักงานสอบสวนมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของแท้จริงหรือไม่ ให้ทำการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ต่อหน้าผู้เสียหายหรือผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีสิทธิ์ตามกฏหมาย และผู้ต้องหา(หากมี) แล้วบันทึกผลการตรวจสอบ โดยมีพนักงานสอบสวน พยานผู้เชี่ยวชาญ ผู้เสียหายหรือผู้ที่อ้างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และผู้ต้องหา(หากมี) ลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย ให้เก็บรักษาไว้ในสถานที่มั่นคง หรือตู้นิรภัย แต่หากมีการเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจซึ่งมีสถานที่ไม่มั่นคงและอาจเกิดการสูญหายได้ง่าย ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการดังนี้
                       (ก)  ในกรุงเทพมหานคร ให้ส่งของกลางนั้นไปฝากไว้ที่กองบังคับการ หรือกองบัญชาการต้นสังกัด ที่เป็นหน่วยงานผู้เบิก ในลักษณะหีบห่อ
                       (ข)  ในจังหวัดอื่นให้ส่งของกลางนั้นไปฝากที่ตำรวจภูธรจังหวัด กองบังคับการ กองบัญชาการหรือตำรวจภูธรภาค ในลักษณะหีบห่อ
                       สำหรับของกลางที่เป็นเงินไทย ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง เปิดบัญชีเงินฝากของกลางในนามสถานีตำรวจหรือในนามหน่วยงานที่มีหน้าที่เก็บรักษากับสถาบันการเงินที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง และหากมีดอกผลนิตินัยเกิดขึ้นให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 
                       การยึด การมอบ การรับคืนของกลาง ให้ผู้ยึด ผู้มอบ ผู้รับ ลงลายมือชื่อพร้อมวงเล็บชื่อสกุลตัวบรรจงไว้ในสมุดยึดทรัพย์ของกลางและรายงานประจำวันเป็นสำคัญ 

                  ข้อ 13  ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางเก็บรักษาของกลางไว้ในสถานที่ ที่มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย ภายในบริเวณสถานที่ทำการของตน หากไม่สามารถเก็บรักษาในสถานที่ดังกล่าวได้ จะไปเก็บรักษาในสถานที่อื่นใดตามที่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการขึ้นไปกำหนดก็ได้ ทั้งนี้ในการเก็บรักษาให้ใช้ความระมัดระวังตรวจตราของกลางให้เป็นอยู่ตามสภาพเดิมเท่าที่จะสามารถรักษาไว้ได้ 
                       สถานที่อื่นใดที่ใช้ในการเก็บรักษาของกลางตามวรรคหนึ่ง หากต้องจัดจ้างผู้ดูแลรักษาสถานที่ก็ให้ดำเนินการตามกฏหมายหรือระเบียบของทางราชการ
                       ในกรณีจำเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอาจจะกำหนดสถานที่เก็บรักษารถของกลางไว้เป็นการเฉพาะก็ได้ 

                  ข้อ 14  เมื่อเห็นว่าของกลางที่เก็บรักษาไว้นั้นหมดความจำเป็นที่จะเก็บรักษาไว้ต่อไปก็ให้ดำเนินการตามข้อ 48  ข้อ 49  ข้อ 50 และข้อ 51 แล้วแต่กรณี

                  ข้อ 15  เอกสารและวัตถุของกลางใดที่จำเป็นจะต้องตรวจพิสูจน์ ให้พนักงานสอบสวนรีบส่งไปยังสถานตรวจพิสูจน์ โดยในส่วนกลางให้ส่งไปยังกองพิสูจน์หลักฐานกลางหรือกองสรรพาวุธตามข้อ 55  ในจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ส่งไปยังศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10 หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด หรือกองสรรพาวุธแล้วแต่กรณีโดยเร็ว พร้อมกับบันทึกแสดงรายละเอียดของเอกสารและวัตถุพยานที่ได้มาประกอบด้วย
                       การส่งเอกสารและวัตถุของกลางไปให้ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10 หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจกำหนด 
                       ในกรณีที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจยังไม่ได้กำหนดแนวทางตามวรรคสอง ให้นำคู่มือวิธีการส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์ที่ใช้อยู่เดิมมาถือปฏิบัติเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้

                 ข้อ 16  ของกลางในคดีอาญาซึ่งเกี่ยวกับหน่วยงาน ในกรมหรือกระทรวงใดมีระเบียบหรือข้อตกลงไว้โดยเฉพาะก็ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อตกลงที่กำหนดไว้

                 ข้อ 17  ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนตรวจสอบสมุดยึดทรัพย์และของกลางเดือนละ 1 ครั้ง เป็นอย่างน้อย เพื่อทราบว่าพนักงานสอบสวนได้จัดการถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบหรือไม่

                 ข้อ 18  ของกลางที่พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งให้หน่วยพิสูจน์ในสังกัดสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ทำการตรวจพิสูจน์ ให้ผู้ตรวจพิสูจน์ต้องทำการตรวจให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับของกลาง หากมีเหตุผลความจำเป็นไม่สามารถตรวจพิสูจน์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ให้ประสานแจ้งพนักงานสอบสวนเป็นกรณี ๆ ไป เว้นแต่ในกรณีที่มีการผัดฟ้องและฝากขังหรือฝากขังผู้ต้องหา ผู้ตรวจพิสูจน์ต้องทำการตรวจพิสูจน์ให้เสร็จสิ้นก่อนการผัดฟ้อง และฝากขังหรือฝากขังครั้งสุดท้าย และเมื่อทำการตรวจเสร็จสิ้นแล้วให้ส่งของกลางคืนพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนมารับของกลางคืนภายใน 15 วันทำการหรือวันที่ได้รับแจ้งจากผู้ตรวจพิสูจน์ว่าผลการตรวจพิสูจน์แล้วเสร็จ 

                 ข้อ 19  กรณีพนักงานสอบสวนไม่มารับของกลางคืนจากหน่วยงานตรวจพิสูจน์ในสังกัดสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ภายในกำหนดตามข้อ 18 หากผู้ตรวจพิสูจน์เห็นว่าของกลางและรายงานการตรวจพิสูจน์ไม่ใช่พยานหลักฐานที่สำคัญในคดี หรือมีหนังสือสอบถามไปยังพนักงานสอบสวนแล้วได้รับการยืนยันเป็นหนังสือว่าของกลางและรายงานการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวไม่ใช่พยานหลักฐานที่สำคัญในคดี ให้เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บังคับการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอนุมัติให้ส่งรายงานการตรวจพิสูจน์พร้อมของกลางดังกล่าวคืนพนักงานสอบสวนทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับหรือวิธีการขนส่งอื่นใดที่มีมาตรการป้องกันสิ่งของสูญหายเช่นเดียวกันหรือสูงกว่า
                       ทั้งนี้ ห้ามมิให้ส่งของกลางประเภทที่มีไว้เป็นความผิดตามกฏหมาย เช่น ยาเสพติด อาวุธปืน วัตถุระเบิด คืนให้พนักสอบสวนทางไปรษณีย์

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป การเก็บรักษาของกลาง ให้มีการลงรายงานประจำวันและสมุดยึดทรัพย์ของกลางคดีอาญา โดยให้ลงลายมือชื่อผู้ยึด ผู้มอบ และผู้รับ เป็นหลักฐาน ถ้าเป็นเครื่องประดับมีมูลค่ามากหรือเงินต่างประเทศ ให้ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ต่อหน้าผู้ถือกรรมสิทธิ์ และผู้ต้องหา(ถ้ามี) แล้วเก็บเอาไว้ในสถานที่มั่นคงหรือนำไปฝากไว้ที่หน่วยงานต้นสังกัด แต่ถ้าเป็นเงินไทยก็ให้เปิดบัญชีเงินฝากเอาไว้ ส่วนของกลางอย่างอื่นให้เก็บไว้ในบริเวณสถานที่ทำการของตน หรือเก็บไว้ในสถานที่ที่ ผกก.ขึ้นไปกำหนด ส่วนของกลางที่จำเป็นต้องตรวจพิสูจน์ก็ให้รีบส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานหรือกองสรรพาวุธ โดยทำการตรวจให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือให้เสร็จสิ้นก่อนการผัดฟ้องฝากขังครั้งสุดท้าย เสร็จแล้วให้พนักงานสอบสวนมารับของกลางคืนภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับแจ้งว่าการตรวจพิสูจน์แล้วเสร็จ กรณีเห็นว่าไม่ใช่พยานหลักฐานสำคัญในคดีอาจจะส่งคืนให้ทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ ยกเว้น ยาเสพติด อาวุธปืน และวัตถุระเบิด ส่วนของกลางที่มีระเบียบหรือข้อตกลงกับกรมหรือกระทรวงอื่นก็ให้ปฏิบัติไปตามข้อตกลงนั้น)