วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2565

สัตว์พลัดเพลิด

 ส่วนที่ 3  สัตว์พลัดเพลิด 

                  ข้อ 22  สัตว์ทุกชนิดที่มีตั๋วรูปพรรณและไม่มีตั๋วรูปพรรณที่เจ้าของปล่อยพลัดเพลิดไปตามถนนหรือที่สาธารณะต่างๆ ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับสัตว์นั้นมาแล้วจดตำหนิรูปพรรณสัตว์ลงในสมุดบัญชีแบบพิมพ์ทั้งต้นและปลายลงในประจำวันและให้เลี้ยงรักษาสัตว์นั้นไว้ถ้าไม่มีคอกขังสัตว์และสัตว์นั้นไม่เกี่ยวกับของกลางที่จะต้องพิสูจน์ในคดีอาญาแล้ว จะฝากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน หรือประชาชนที่อยู่ใกล้สถานีตำรวจช่วยเลี้ยงรักษาไว้ให้ก็ได้ และถ้าผู้เลี้ยงรักษาจะใช้การงานอย่างไรบ้าง ซึ่งไม่เกินสมควร ก็อนุญาตให้นำไปใช้งานได้ ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางประกาศโฆษณาหาเจ้าของสัตว์ติดไว้ที่หน้าสถานีตำรวจหน่อยที่เห็นได้ชัดเจน      

                  ข้อ 23  เมื่อได้ประกาศหาเจ้าของสัตว์เมื่อครบกำหนด 90 วันนับแต่วันที่จับสัตว์นั้นมา ถ้าไม่มีเจ้าของสัตว์มารับสัตว์นั้นไป ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางจัดการขายทอดตลาดสัตว์นั้น และถ้าเป็นสัตว์พาหนะเมื่อขายทอดตลาดให้ผู้ใดไปแล้ว ให้ทำหนังสือแจ้งไปยังอำเภอท้องที่ เพื่อจะทำรูปพรรณเปลี่ยนชื่อเจ้าของสัตว์เสียให้ถูกต้องตามกฏหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะด้วย ส่วนเงินที่ขายทอดตลาดไว้ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามระเบียบ
                      หากการดำเนินการตามวรรคหนึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับค่าของสัตว์นั้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหารราคาแพง หรือเป็นสัตว์ดุร้าย ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางจะจัดให้เอาออกขายทอดตลาดก่อนถึงกำหนดตามวรรคหนึ่งก็ได้

                  ข้อ 24  ถ้าเจ้าของสัตว์ติดตามมารับสัตว์นั้น ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางจัดให้มีการสอบสวนหลักฐาน ถ้ามีทะเบียนสัตว์พาหนะให้เรียกมาตรวจสอบ เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้ว ให้มอบสัตว์นั้นให้แก่เจ้าของไป โดยลงรายงานประจำวันและสมุดบัญชีแบบพิมพ์ พร้อมกับให้ลงนามไว้ให้เป็นหลักฐาน  

                  ข้อ 25  ผู้ใดจับได้สัตว์พาหนะที่เพลิดเพลินหรือถูกละทิ้งไว้ ถ้าไม่สามารถมอบคืนสัตว์นั้นให้แก่เจ้าของหรือผู้มีสิทธิจะรับสัตว์นั้นได้ภายในกำหนด 3 วัน นับแต่วันจับสัตว์นั้นได้ ให้นำสัตว์นั้นไปส่งต่อเจ้าพนักงานและแจ้งเหตุการณ์ให้ทราบ
                      ให้เจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบสัตว์ไว้ตามความในวรรคหนึ่ง นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อจัดการโฆษณาหาเจ้าของ หรือดำเนินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วแต่กรณี

                  ข้อ 26  บรรดาสัตว์พาหนะที่ได้โฆษณาหาเจ้าของตามข้อ 23 หรือข้อ 24 หากผู้ใดอ้างว่าสัตว์นั้นเป็นของตน ให้นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ต่อพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่าควรคืนสัตว์นั้นให้แก่ผู้ใด ก็ให้คืนไป แต่ผู้นั้นต้องชำระค่าเลี้ยงรักษาให้ตามสมควร(ถ้าหากมี) ก่อนที่จะรับสัตว์นั้นไป 
                      แต่ถ้าหากผู้นั้นไม่ยินยอมชำระค่าเลี้ยงรักษา ให้นำออกขายทอดตลาดและหักค่าชำระเลี้ยงรักษาไว้แทน เหลือเท่าใดให้มอบคืนผู้ที่อ้างว่าสัตว์นั้นเป็นของตน

                   ข้อ 27  สัตว์พาหนะของผู้ใดหายไปด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ให้เจ้าของหรือตัวแทนแจ้งความต่อเจ้าพนักงานภายใน 7 วัน นับแต่เวลาที่ทราบเหตุ ภายหลังเมื่อได้สัตว์คืนมาให้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานภายใน 7 วัน นับแต่วันได้คืน ถ้าไม่ได้สัตว์นั้นมาคืนให้ส่งตั๋วรูปพรรณต่อนายทะเบียนท้องที่หรือกำนัน เพื่อจัดส่งนายทะเบียนท้องที่ภายใน 90 วัน

                   ข้อ 28  สัตว์พาหนะที่เจ้าพนักงานเลี้ยงรักษาไว้ตามข้อ 23 หรือข้อ 24 ถ้าไม่มีผู้ใดมาขอรับคืนภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันโฆษณา ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะขายทอดตลาดสัตว์นั้นได้ เมื่อขายแล้วได้เงินเท่าใด ให้หักค่าใช้จ่ายและค่าเลี้ยงรักษาออก(ถ้าหากมี) แล้วถือเงินจำนวนสุทธิไว้แทน
                      ให้สัตว์พาหนะหรือเงินจำนวนสุทธิตามความในวรรคหนึ่ง ตกเป็นของแผ่นดินหรือผู้จับสัตว์ได้ตามข้อ 25 ในเมื่อบุคคลผู้มีสิทธิ์จะมารับมิได้เรียกเอาภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่สัตว์นั้นมาอยู่ในอารักขาของเจ้าพนักงาน 
                      ในกรณีที่ได้ยึดสัตว์ไว้โฆษณาตามคำสั่งศาล กำหนด 1 ปี นั้นให้นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่ถ้ามีทราบตัวบุคคลผู้มีสิทธิ์ให้ขยายเวลาเป็น 5 ปี

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป ถ้าสัตว์พาหนะหายไป ให้เจ้าของแจ้งความต่อเจ้าพนักงานภายใน 7 วัน แต่ถ้าได้คืนก็ให้แจ้งภายใน 7 วัน เช่นกัน กรณีมีผู้จับสัตว์พลัดเพลิดได้ ให้ส่งต่อเจ้าพนักงานหรือให้เจ้าพนักงานตำรวจจับสัตว์นั้นมาลงประจำวัน แล้วฝากเลี้ยงหรือเลี้ยงรักษาไว้เอง และประกาศหาเจ้าของ จนครบ 90 วัน ถ้าไม่มีผู้ใดมาขอรับคืน ก็ให้ขายทอดตลาดหักค่าใช้จ่ายและค่าเลี้ยงรักษาออก แล้วนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เว้นแต่ถ้าจะเลี้ยงไว้แล้วไม่คุ้มค่าราคา ให้เอาออกขายทอดตลาดก่อนกำหนดก็ได้ ถ้ามีเจ้าของมาขอรับสัตว์นั้นคืนก็ให้มีการตรวจสอบจนแน่ชัดก่อนมอบให้แก่เจ้าของไปพร้อมลงประจำวันไว้เป็นหลักฐาน แต่ต้องให้ชำระค่าเลี้ยงรักษาให้ตามสมควร ถ้าไม่ชำระก็ให้นำออกขายทอดตลาดและหักค่าเลี้ยงรักษาแล้วมอบคืนส่วนที่เหลือให้ผู้ที่อ้างนั้น แต่ถ้าผู้มีสิทธิมารับคืน มิได้เรียกเอาสัตว์พาหนะหรือเงินจากการขายทอดตลาดภายใน 1 ปี ก็ให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือผู้ที่จับสัตว์นั้นได้)

ของกลางอย่างอื่น

หมวด 2  ของกลางอย่างอื่น 

ส่วนที่ 1  ทรัพย์สินที่ยึดไว้ตรวจสอบ 

                ข้อ 20  ทรัพย์สินใดที่ตามกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เพื่อทำการตรวจสอบตามกฎหมายได้ ให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจยึด ทำบันทึกการตรวจยึดพร้อมบัญชีสิ่งของที่ตรวจยึด โดยให้ผู้ตรวจยึดและเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครอง ลงลายมือชื่อในบันทึกการตรวจยึดและบัญชีสิ่งของด้วย แล้วให้นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย และให้พนักงานสอบสวนลงสมุดยึดทรัพย์ของกลางประเภทอื่น เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฏหมายแล้ว หากไม่ปรากฏว่าเป็นความผิดตามกฏหมาย ก็ให้คืนแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครอง หากปรากฏว่าเป็นความผิดตามกฎหมายก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
                แต่หากทรัพย์สินที่ยึดไว้เพื่อตรวจสอบนั้นเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะทำการตรวจยึด แต่เจ้าพนักงานอื่นได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฏหมายทำการตรวจยึดแล้วส่งมอบให้แก่พนักงานสอบสวนให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฏหมายระเบียบหรือข้อตกลงและให้ลงสมุดยึดทรัพย์ของกลางประเภทอื่นไว้เป็นหลักฐานด้วย

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป กรณีเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานอื่นตรวจยึดไว้เพื่อตรวจสอบ ให้จัดทำบันทึกและทำบัญชีสิ่งของ พร้อมลงลายมือชื่อผู้ตรวจยึดกับเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ส่งให้พนักงานสอบสวนลงสมุดยึดทรัพย์ ทำการตรวจสอบ จากนั้น คืนให้เจ้าของ หรือให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย แล้วแต่กรณี)

ส่วนที่ 2  ทรัพย์สินหาย

                ข้อ 21  วิธีปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินหายที่มีผู้เก็บได้ ให้ถือปฏิบัติดังนี้ 
                (1)  สถานีตำรวจท้องที่ใดที่มีผู้เก็บทรัพย์สินหายได้ มอบให้สถานีตำรวจแห่งนั้นรับไว้ ให้ลงรายงานเบ็ดเสร็จประจำวัน สมุดยึดทรัพย์สินของกลาง ให้ปรากฏรายละเอียดชื่อและที่อยู่ของผู้เก็บทรัพย์สินหายได้ ตลอดจนลักษณะตำหนิรูปพรรณทรัพย์สินและสถานที่ที่เก็บได้โดยชัดเจนแล้วบันทึกถ้อยคำผู้เก็บให้ทราบถึงการได้ของนั้นมาโดยละเอียด แล้วสำเนาเอกสารดังกล่าวพร้อมกับส่งของกลางนั้นไปให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร ภายในกำหนด 7 วัน เพื่อสืบหาหรือออกประกาศสืบหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ได้รับต่อไป   
                (2)  ให้สอบสวนผู้เก็บทรัพย์สินหายได้ ทุกรายให้ชัดเจนว่า จะต้องการรับรางวัลหรือไม่ เมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่เก็บได้แล้วหากไม่ปรากฏว่ามีเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์มารับของคืน ผู้เก็บจะขอรับของนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ หรือจะยกให้เป็นสิทธิ์แก่ทางราชการ หากผู้นั้นมีความประสงค์อย่างไรให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานและแสดงไว้ในหลักฐานตาม (1) เพื่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรได้รับทราบไว้ด้วย และให้แนะนำแก่ผู้เก็บได้ด้วยว่า หากย้ายที่อยู่ในระหว่าง 1 ปี นับแต่วันที่เก็บได้ ให้แจ้งหน้าสถานีตำรวจที่เก็บได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับแจ้งไว้เดิม ถ้ามิสามารถจะทำได้ ก็ให้แจ้ง ณ สถานีตำรวจที่สามารถจะแจ้งได้เพื่อจะได้ติดต่อให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้เก็บทรัพย์สินหายได้เอง ในการที่จะติดต่อรับรางวัลหรือขอรับทรัพย์สินหายที่เก็บได้นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของตน  
                (3)  ทรัพย์สินที่ต้องส่งไปเก็บยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรตามที่กล่าวมาแล้วใน (1) หากเป็นสิ่งของที่ใหญ่โตหรือมีน้ำหนักมาก ไม่สะดวกแก่การขนส่งและการเคลื่อนย้ายหรือจะเป็นการสิ้นเปลืองเงินค่าขนส่งเกินสมควร เช่น เครื่องยนต์ เรือ แพ ซุง เป็นต้น ให้สถานีตำรวจนั้นเก็บรักษาไว้เอง   
                      ส่วนปศุสัตว์หรือสัตว์พาหนะ สำหรับเขตกรุงเทพมหานคร ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือเทียบเท่าหรือผู้รักษาราชการแทนแล้วแต่กรณี พิจารณา ถ้ามีเหตุจำเป็น ให้ส่งไปยังกองกำกับการตำรวจม้า หรือศูนย์ฝึกอบรมกองบัญชาการตำรวจนครบาล เลี้ยงรักษาไว้ 
                      ในส่วนจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือเทียบเท่าหรือผู้รักษาราชการแทนแล้วแต่กรณี พิจารณาประสานสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรืออำเภอ เลี้ยงรักษาไว้ หากหน่วยงานดังกล่าวไม่รับเลี้ยงรักษาไว้ให้ ก็ให้มอบหมายให้ผู้อื่นเลี้ยงรักษาไว้แทน หรือถ้ามีเหตุจำเป็นก็ให้สถานีตำรวจนั้นเลี้ยงรักษาไว้เอง ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงรักษา ให้เบิกจ่ายตามกฏหมายหรือตามระเบียบของทางราชการ
                (4)  ให้สถานีตำรวจที่ได้รับทรัพย์สินหายจากผู้ที่เก็บได้ ประกาศสืบหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ได้รับติดไว้โดยเปิดเผยที่สถานีตำรวจให้ประชาชนเห็นได้อย่างชัดเจน และให้ประกาศสืบหาเจ้าของ หรือผู้มีสิทธิ์ได้รับทางวิทยุในเครือข่ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยอีกช่องทางหนึ่ง 
                (5)  ถ้ามีผู้มาแจ้งว่าทรัพย์สินหาย ไม่ว่าจะเป็นการหลงลืมทิ้งไว้หรือทำตกหล่น ให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจที่ได้รับแจ้งความ ลงรายงานประจำวันและบันทึกถ้อยคำผู้แจ้งโดยให้ปรากฏชื่อที่อยู่สถานที่หลงลืมหรือตกหล่นที่ใด อย่างไร และรูปพรรณของทรัพย์สินนั้นโดยละเอียด กับจัดทำหนังสือให้ผู้แจ้งนำไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อตรวจสอบดูว่าได้มีผู้เก็บได้และนำส่งมอบไว้หรือไม่ ในกรณีที่มีผู้เก็บได้และนำมาส่งมอบไว้ เมื่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรตรวจสอบหลักฐานแล้วเชื่อแน่ว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของที่แท้จริงพิจารณาอนุญาตให้รับคืนไปได้ โดยให้หมายเหตุไว้ในบัญชี และให้ผู้นั้นลงชื่อรับสิ่งของไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งให้สถานีตำรวจที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นมา จัดการจำหน่ายในบัญชีทรัพย์ของกลางนั้นด้วย 
                       ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ยังไม่ได้ส่งกองทะเบียนประวัติอาชญากรและยังเก็บรักษาอยู่ที่สถานีตำรวจนั้น ในเมื่อผู้เป็นเจ้าของมาขอรับคืน ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้รักษาการแทนแล้วแต่กรณี ตรวจสอบหลักฐานและพิจารณาอนุญาตให้รับคืนไปได้ โดยให้หมายเหตุไว้ในบัญชีและให้ผู้นั้นลงชื่อรับสิ่งของไว้เป็นหลักฐาน แล้วแจ้งให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบ เพื่อประโยชน์ในการตอบคำถามและรวบรวมสถิติต่อไป 
                (6)  ทรัพย์สินหายที่มีผู้เก็บได้ แล้วไม่นำส่งมอบไว้ต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนด เมื่อเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น ให้สถานีตำรวจที่ดำเนินการเรื่องนั้นเก็บรักษาของกลางที่เก็บได้นั้นไว้ก่อน จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยให้ปฏิบัติตาม (1) ด้วย และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วให้ดำเนินการตามคำพิพากษา ถ้ายังไม่มีผู้มาขอรับของคืนไป ให้นำทรัพย์สินนั้นส่งกองทะเบียนประวัติอาชญากรตาม (1)  
                (7)  ทรัพย์สินหายที่มีผู้เก็บได้และส่งมาเก็บรักษาไว้ยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรแล้ว หากปรากฏในภายหลังว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของกลางในคดีอาญาแล้ว ให้สถานีตำรวจที่ดำเนินคดีขอรับไปเก็บรักษาไว้ตามระเบียบเกี่ยวกับของกลางในคดีอาญา 
                (8)  เมื่อครบกำหนด 1 ปี แล้ว หากเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์หรือผู้เก็บได้ไม่มาขอรับของคืนไป ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นเจ้าหน้าที่จัดการขายทอดตลาด แล้วนำเงินส่งกองการเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อผลประโยชน์ของทางราชการต่อไป 
                       หากกองทะเบียนประวัติอาชญากรหรือหน่วยงานราชการอื่นที่ได้รับทรัพย์สินหายและมีผู้เก็บได้ พิจารณาแล้วเห็นว่าทรัพย์สินสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือเพื่อประโยชน์ทางอื่นแล้ว ให้เสนอขออนุมัติถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งการเป็นเฉพาะ 
                       การดำเนินการตามข้อนี้ ในจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพมหานคร หน้าที่ใดซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของกองทะเบียนประวัติอาชญากรให้ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10 เป็นผู้ดำเนินการแทนและติดต่อประสานงานกับกองทะเบียนประวัติอาชญากรด้วย

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป กรณีเก็บทรัพย์ได้ให้นำไปมอบที่สถานีตำรวจ ลงรายงานประจำวันมีรายละเอียดชื่อและที่อยู่ของผู้ที่เก็บได้ สอบปากคำ แล้วส่งทรัพย์ไปกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อสืบหาเจ้าของ และให้สถานีตำรวจประกาศสืบหาเจ้าของด้วยเช่นกัน เมื่อครบ 1 ปี ไม่มีเจ้าของมารับ ก็ยกให้ผู้เก็บได้ หรือยกให้แก่ทางราชการ ตามความประสงค์ของผู้นั้น แต่ถ้าทรัพย์มีขนาดใหญ่โตก็ให้สถานีตำรวจเก็บรักษาไว้เอง ถ้าเป็นสัตว์ก็ให้ส่งไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสถานีตำรวจเลี้ยงไว้เอง ส่วนผู้ที่มาแจ้งว่าทำทรัพย์หาย ให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำโดยละเอียดแล้วทำหนังสือให้ผู้แจ้งนำไปขอตรวจสอบทรัพย์ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร ถ้าเป็นเจ้าของจริงก็รับคืนไปได้ แล้วจำหน่ายออกจากบัญชีทรัพย์ของกลาง เว้นแต่ทรัพย์ที่เก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจก็ให้หัวหน้าสถานีตำรวจพิจารณาอนุญาตให้รับคืนไปได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นของกลางในคดีอาญาก็ให้สถานีตำรวจเก็บรักษาไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในกรณีที่เก็บไว้ครบ 1 ปี แต่ไม่มีเจ้าของและผู้เก็บไว้มาของรับคืนไป ให้เป็นหน้าที่ของกองทะเบียนประวัติอาชญากร หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10 แล้วแต่กรณี จัดการขายทอดตลาดแล้วนำเงินส่งกองการเงิน เว้นแต่ทรัพย์ที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนราชการ ให้เสนอขออนุมัติถึง ตร. สั่งการเป็นเฉพาะ)

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

การเก็บรักษาของกลาง

 ลักษณะ 2  การเก็บรักษาของกลาง
    หมวด 1  ของกลางในคดีอาญา    (ข้อ 12 - ข้อ 18

                 ข้อ 12  การเก็บรักษาของกลาง ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
                 (1)  เมื่อของกลางสิ่งใดมาถึงสถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนจดรูปพรรณสิ่งของลงในรายงานประจำวัน และสมุดยึดทรัพย์ของกลางคดีอาญา แล้วเขียนเลขลำดับที่ยึดทรัพย์ติดไว้กับสิ่งของนั้นให้มั่นคง อย่าให้หลุดหรือสูญหายได้ แล้วส่งมอบของกลางให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการ เก็บรักษาของกลางไว้ตามระเบียบนี้ 
                 (2)  หากของกลางเป็นเอกสารสำคัญหรือเป็นสิ่งของมีค่ามาก เช่น เครื่องเพชร เครื่องทองรูปพรรณ เงินตราต่างประเทศ ก่อนการเก็บรักษาไว้ตาม (1) หากพนักงานสอบสวนมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของแท้จริงหรือไม่ ให้ทำการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ต่อหน้าผู้เสียหายหรือผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีสิทธิ์ตามกฏหมาย และผู้ต้องหา(หากมี) แล้วบันทึกผลการตรวจสอบ โดยมีพนักงานสอบสวน พยานผู้เชี่ยวชาญ ผู้เสียหายหรือผู้ที่อ้างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และผู้ต้องหา(หากมี) ลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย ให้เก็บรักษาไว้ในสถานที่มั่นคง หรือตู้นิรภัย แต่หากมีการเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจซึ่งมีสถานที่ไม่มั่นคงและอาจเกิดการสูญหายได้ง่าย ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการดังนี้
                       (ก)  ในกรุงเทพมหานคร ให้ส่งของกลางนั้นไปฝากไว้ที่กองบังคับการ หรือกองบัญชาการต้นสังกัด ที่เป็นหน่วยงานผู้เบิก ในลักษณะหีบห่อ
                       (ข)  ในจังหวัดอื่นให้ส่งของกลางนั้นไปฝากที่ตำรวจภูธรจังหวัด กองบังคับการ กองบัญชาการหรือตำรวจภูธรภาค ในลักษณะหีบห่อ
                       สำหรับของกลางที่เป็นเงินไทย ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง เปิดบัญชีเงินฝากของกลางในนามสถานีตำรวจหรือในนามหน่วยงานที่มีหน้าที่เก็บรักษากับสถาบันการเงินที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง และหากมีดอกผลนิตินัยเกิดขึ้นให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 
                       การยึด การมอบ การรับคืนของกลาง ให้ผู้ยึด ผู้มอบ ผู้รับ ลงลายมือชื่อพร้อมวงเล็บชื่อสกุลตัวบรรจงไว้ในสมุดยึดทรัพย์ของกลางและรายงานประจำวันเป็นสำคัญ 

                  ข้อ 13  ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางเก็บรักษาของกลางไว้ในสถานที่ ที่มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย ภายในบริเวณสถานที่ทำการของตน หากไม่สามารถเก็บรักษาในสถานที่ดังกล่าวได้ จะไปเก็บรักษาในสถานที่อื่นใดตามที่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการขึ้นไปกำหนดก็ได้ ทั้งนี้ในการเก็บรักษาให้ใช้ความระมัดระวังตรวจตราของกลางให้เป็นอยู่ตามสภาพเดิมเท่าที่จะสามารถรักษาไว้ได้ 
                       สถานที่อื่นใดที่ใช้ในการเก็บรักษาของกลางตามวรรคหนึ่ง หากต้องจัดจ้างผู้ดูแลรักษาสถานที่ก็ให้ดำเนินการตามกฏหมายหรือระเบียบของทางราชการ
                       ในกรณีจำเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอาจจะกำหนดสถานที่เก็บรักษารถของกลางไว้เป็นการเฉพาะก็ได้ 

                  ข้อ 14  เมื่อเห็นว่าของกลางที่เก็บรักษาไว้นั้นหมดความจำเป็นที่จะเก็บรักษาไว้ต่อไปก็ให้ดำเนินการตามข้อ 48  ข้อ 49  ข้อ 50 และข้อ 51 แล้วแต่กรณี

                  ข้อ 15  เอกสารและวัตถุของกลางใดที่จำเป็นจะต้องตรวจพิสูจน์ ให้พนักงานสอบสวนรีบส่งไปยังสถานตรวจพิสูจน์ โดยในส่วนกลางให้ส่งไปยังกองพิสูจน์หลักฐานกลางหรือกองสรรพาวุธตามข้อ 55  ในจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ส่งไปยังศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10 หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด หรือกองสรรพาวุธแล้วแต่กรณีโดยเร็ว พร้อมกับบันทึกแสดงรายละเอียดของเอกสารและวัตถุพยานที่ได้มาประกอบด้วย
                       การส่งเอกสารและวัตถุของกลางไปให้ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10 หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจกำหนด 
                       ในกรณีที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจยังไม่ได้กำหนดแนวทางตามวรรคสอง ให้นำคู่มือวิธีการส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์ที่ใช้อยู่เดิมมาถือปฏิบัติเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้

                 ข้อ 16  ของกลางในคดีอาญาซึ่งเกี่ยวกับหน่วยงาน ในกรมหรือกระทรวงใดมีระเบียบหรือข้อตกลงไว้โดยเฉพาะก็ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อตกลงที่กำหนดไว้

                 ข้อ 17  ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนตรวจสอบสมุดยึดทรัพย์และของกลางเดือนละ 1 ครั้ง เป็นอย่างน้อย เพื่อทราบว่าพนักงานสอบสวนได้จัดการถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบหรือไม่

                 ข้อ 18  ของกลางที่พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งให้หน่วยพิสูจน์ในสังกัดสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ทำการตรวจพิสูจน์ ให้ผู้ตรวจพิสูจน์ต้องทำการตรวจให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับของกลาง หากมีเหตุผลความจำเป็นไม่สามารถตรวจพิสูจน์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ให้ประสานแจ้งพนักงานสอบสวนเป็นกรณี ๆ ไป เว้นแต่ในกรณีที่มีการผัดฟ้องและฝากขังหรือฝากขังผู้ต้องหา ผู้ตรวจพิสูจน์ต้องทำการตรวจพิสูจน์ให้เสร็จสิ้นก่อนการผัดฟ้อง และฝากขังหรือฝากขังครั้งสุดท้าย และเมื่อทำการตรวจเสร็จสิ้นแล้วให้ส่งของกลางคืนพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนมารับของกลางคืนภายใน 15 วันทำการหรือวันที่ได้รับแจ้งจากผู้ตรวจพิสูจน์ว่าผลการตรวจพิสูจน์แล้วเสร็จ 

                 ข้อ 19  กรณีพนักงานสอบสวนไม่มารับของกลางคืนจากหน่วยงานตรวจพิสูจน์ในสังกัดสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ภายในกำหนดตามข้อ 18 หากผู้ตรวจพิสูจน์เห็นว่าของกลางและรายงานการตรวจพิสูจน์ไม่ใช่พยานหลักฐานที่สำคัญในคดี หรือมีหนังสือสอบถามไปยังพนักงานสอบสวนแล้วได้รับการยืนยันเป็นหนังสือว่าของกลางและรายงานการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวไม่ใช่พยานหลักฐานที่สำคัญในคดี ให้เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บังคับการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอนุมัติให้ส่งรายงานการตรวจพิสูจน์พร้อมของกลางดังกล่าวคืนพนักงานสอบสวนทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับหรือวิธีการขนส่งอื่นใดที่มีมาตรการป้องกันสิ่งของสูญหายเช่นเดียวกันหรือสูงกว่า
                       ทั้งนี้ ห้ามมิให้ส่งของกลางประเภทที่มีไว้เป็นความผิดตามกฏหมาย เช่น ยาเสพติด อาวุธปืน วัตถุระเบิด คืนให้พนักสอบสวนทางไปรษณีย์

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป การเก็บรักษาของกลาง ให้มีการลงรายงานประจำวันและสมุดยึดทรัพย์ของกลางคดีอาญา โดยให้ลงลายมือชื่อผู้ยึด ผู้มอบ และผู้รับ เป็นหลักฐาน ถ้าเป็นเครื่องประดับมีมูลค่ามากหรือเงินต่างประเทศ ให้ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ต่อหน้าผู้ถือกรรมสิทธิ์ และผู้ต้องหา(ถ้ามี) แล้วเก็บเอาไว้ในสถานที่มั่นคงหรือนำไปฝากไว้ที่หน่วยงานต้นสังกัด แต่ถ้าเป็นเงินไทยก็ให้เปิดบัญชีเงินฝากเอาไว้ ส่วนของกลางอย่างอื่นให้เก็บไว้ในบริเวณสถานที่ทำการของตน หรือเก็บไว้ในสถานที่ที่ ผกก.ขึ้นไปกำหนด ส่วนของกลางที่จำเป็นต้องตรวจพิสูจน์ก็ให้รีบส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานหรือกองสรรพาวุธ โดยทำการตรวจให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือให้เสร็จสิ้นก่อนการผัดฟ้องฝากขังครั้งสุดท้าย เสร็จแล้วให้พนักงานสอบสวนมารับของกลางคืนภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับแจ้งว่าการตรวจพิสูจน์แล้วเสร็จ กรณีเห็นว่าไม่ใช่พยานหลักฐานสำคัญในคดีอาจจะส่งคืนให้ทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ ยกเว้น ยาเสพติด อาวุธปืน และวัตถุระเบิด ส่วนของกลางที่มีระเบียบหรือข้อตกลงกับกรมหรือกระทรวงอื่นก็ให้ปฏิบัติไปตามข้อตกลงนั้น)

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2565

หน้าที่การเก็บรักษาของกลาง

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการเก็บรักษาและการจำหน่ายของกลาง พ.ศ. 2565 
ลักษณะ 1  หน้าที่การเก็บรักษาของกลางและการมอบหมาย  (ข้อ 6 - ข้อ 11)

                ข้อ ๖  ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง แบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้ 
                (1) ระดับสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนในระดับกองกำกับการ ได้แก่ หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน 
                (2) ระดับกองบังคับการ ได้แก่ ผู้บังคับการ
                (3) ระดับกองบัญชาการ ได้แก่ ผู้บัญชาการ
                (4) ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

               ข้อ 7  ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง ต้องเก็บรักษาและดูแลของกลางที่ได้รับมอบไว้ในที่ปลอดภัย ไม่ให้เกิดการสูญหาย เสียหาย และต้องเก็บรักษาของกลางตามวิธีการที่ถูกต้องในของกลางแต่ละประเภท
                 หากผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง เห็นว่า เป็นการสมควรที่จะมอบหมายหน้าที่ในการเก็บรักษาของกลางแทน อาจมอบหมายหน้าที่ในการเก็บรักษาของกลาง ดังนี้
                (1) ระดับสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนในระดับกองกำกับการ ให้มอบหมายข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าร้อยตำรวจตรีขึ้นไป เว้นแต่ กรณีที่ไม่อาจหาผู้ที่มียศดังกล่าวได้ ให้ขออนุมัติต่อผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงานของตนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
                (2) ระดับกองบังคับการ ให้มอบหมายข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่พันตำรวจเอกขึ้นไป  
                (3) ระดับกองบัญชาการ ให้มอบหมายข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่พันตำรวจเอกขึ้นไป 
                (4) ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มอบหมายข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่พลตำรวจตรีขึ้นไป 

              ข้อ 8  ให้ผู้ที่มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้                    (1) ตรวจสอบสภาพของกลางและความถูกต้องก่อนที่จะเก็บรักษา
                (2) จัดทำบัญชีของกลางที่เก็บรักษาไว้ตามประเภทของกลาง ได้แก่ ของกลางในคดีอาญา และของกลางอย่างอื่น
                (3) จัดทำหลักฐานการรับและส่งมอบของการให้เรียบร้อย
                (4) ตรวจสอบสภาพของกลางและบันทึกรายงานผลการตรวจสอบให้ผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงานของตน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อทราบทุกระยะเวลา 6 เดือน 
                (5) จัดให้มีกุญแจหรือรหัสสถานที่เก็บรักษาของกลางให้มั่นคงแข็งแรง โดยมีผู้เก็บรักษากุญแจและรู้รหัส จำนวน ๓ คน คือ ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร และผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง
                (6) จัดให้มีสมุดควบคุมการเปิด-ปิด สถานที่เก็บรักษาของกลาง 
                (7) ส่งมอบของกลางแก่บุคคลที่ร้องขอ ตามที่กฎหมายหรือระเบียบให้อำนาจไว้
                (8) ดำเนินการอื่นใดเพื่อการเก็บรักษาของกลางตามที่เห็นสมควร

                ข้อ 9  ในการเปิดสถานที่เก็บรักษาของกลาง ให้กระทำโดยผู้เก็บรักษากุญแจและรู้รหัส จำนวน 2 ใน 3 

                ข้อ 10  เมื่อมีการแต่งตั้งให้ไปรับตำแหน่งที่อื่น ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางและผู้ที่จะมารับหน้าที่ใหม่ จะต้องส่งมอบของกลางแก่กันให้เสร็จก่อนการเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถเดินทางมารับมอบของกลางได้ภายในเวลากำหนด ให้มอบของกลางให้แก่ผู้รักษาราชการแทนรับไว้และให้ผู้มารับตำแหน่งใหม่รับมอบหมายของกลางจากผู้รักษาราชการแทนให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันเดินทางมารับตำแหน่งใหม่ 
                 หน้าที่ของผู้รับมอบ ต้องสำรวจสิ่งของให้ถูกต้อง ตรงกับรายการในบัญชี หากของกลางใดไม่ส่งมอบด้วยเหตุใด ให้หมายเหตุไว้ให้ชัดเจน แล้วลงชื่อกำกับไว้ทั้งผู้มอบและผู้รับมอบ และเมื่อรับมอบแล้วให้เสนอผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงานของตนทราบ หากมีการบกพร่องก็ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งดำเนินการสอบสวนต่อไป เมื่อผู้รับมอบได้ลงลายมือชื่อรับมอบของกลางแล้ว ถือว่าได้รับของกลางไว้ถูกต้องตามจำนวนที่ปรากฏในบัญชี และให้ผู้มอบของกลางพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบเท่าที่ปรากฏในบัญชีของกลางที่มีอยู่อย่างไม่บกพร่องในขณะที่รับมอบต่อกันเท่านั้น หากปรากฏว่าขาดตกบกพร่องในจำนวนสิ่งของขึ้นภายหลังผู้รับมอบจะต้องเป็นผู้รับผิด 

                ข้อ 11  ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่ปฏิบัติเกี่ยวข้องแก่ของกลางนั้นเหมือนดั่งเช่นวิญญูชนพึงรักษาดูแลทรัพย์สินของตนเอง และต้องรักษาของนั้น ๆ ไว้ในสถานที่ปรากฎตามระเบียบนี้ด้วยความระมัดระวัง และคอยตรวจตราอยู่เสมอให้ของกลางนั้นอยู่ตามสภาพเดิมเท่าที่จะรักษาไว้ได้ก่อนที่จะมีการส่งมอบต่อกัน

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง ในระดับสถานีตำรวจ คือ หัวหน้าสถานีตำรวจ และอาจมอบหมายให้ข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่ ร.ต.ต. หรือเทียบเท่าขึ้นไป ทำหน้าที่ในการเก็บรักษาของกลางแทน เพื่อดูแลรักษา จัดทำบัญชี รับ-มอบของกลาง ตลอดจนควบคุมการเปิด-ปิดสถานที่เก็บรักษาของกลาง)

ความหมาย ของกลาง

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ว่าด้วย การเก็บรักษาและการจำหน่ายของกลาง พ.ศ. 2565   (ข้อ 1 - ข้อ 5)

               ข้อ 1  ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการเก็บรักษาและการจำหน่ายของกลาง พ.ศ. 2565

               ข้อ 2  ระเบียบนี้ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

               ข้อ 3 ให้ยกเลิกประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 15 ของกลางและของส่วนตัวผู้ต้องหา ยกเว้น บทที่ 2  สิ่งของส่วนตัวผู้ต้องหา

               ข้อ 4  ในระเบียบนี้ 
                "ของกลาง"  หมายความว่า วัตถุใด ๆ หรือทรัพย์สินที่ตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าพนักงานโดยอำนาจแห่งกฎหมายหรือโดยหน้าที่ในทางราชการ และได้ยึดไว้เป็นของกลางเพื่อพิสูจน์ในทางคดีหรือเพื่อจัดการอย่างอื่นตามกฏหมาย 
                "ของกลางในคดีอาญา"  หมายความว่า ของกลางที่ต้องดำเนินการจัดการทางคดีอาญา เช่น ทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด ได้มาโดยความผิด ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด หรือที่ใช้เป็นหลักฐานในทางคดีอาญา 
                "ของกลางอย่างอื่น"  หมายความว่า ของกลางที่ไม่เข้าอยู่ในลักษณะของกลางในคดีอาญา
                "ทรัพย์สินหาย"  หมายความถึง ทรัพย์สินที่มีผู้หลงลืมทิ้งไว้หรือทำตกหล่นไว้ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง
                "รถ"  หมายความว่า รถตามกฏหมายว่าด้วยการจราจรทางบก กฏหมายว่าด้วยรถยนต์ กฏหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และตามที่ปรากฏในกฎหมายอื่น
                "การคืนของกลาง"  หมายความว่า การคืนของกลางเมื่อคดีเสร็จสิ้น และให้หมายความรวมถึง การนำไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ในชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล 
                "การจำหน่ายของกลาง"  หมายความว่า การจำหน่ายของกลางออกจากบัญชีไม่ว่าก่อนหรือหลังคดีถึงที่สุดโดยวิธีการทำลายขาย ขายทอดตลาด ขายคืนเจ้าของ ขายปันส่วน ส่งมอบส่วนราชการ ทำลายหรือวิธีการใด ตามที่ได้รับอนุมัติ
                "หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน"  หมายความถึง กลุ่มงานสอบสวนหรือกองกำกับการที่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1 - 9 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกลุ่มงานสอบสวนและตรวจสอบทรัพย์สินในสังกัดกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
               "หน่วยตรวจพิสูจน์ในสังกัดสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ" หมายความถึง กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10 และพิสูจน์หลักฐานจังหวัด 

               ข้อ 5  ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความวินิจฉัยปัญหาเพื่อดำเนินการตามระเบียบนี้ 
                คำวินิจฉัยของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ถือเป็นที่สุด

(ข้อคิดเห็น - คำว่า "ของกลาง" เป็นสิ่งของที่ถูกยึด ซึ่งมี 2 ประเภท คือ สิ่งของที่เกี่ยวข้องในคดีอาญา กับสิ่งของอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา ก็ได้ โดยให้มีการบันทึกสิ่งของเหล่านั้นไว้ในบัญชีของกลางด้วย)