วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

การยึดและคืนรถของกลาง

การยึดและการคืนรถยนต์ของกลางในคดี พ.ร.บ.จราจรทางบก
                 อ้างถึง ข้อบังคับการเก็บรักษาของกลาง กระทรวงมหาดไทย  พ.ศ.๒๔๘๐ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๐๔ , ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๑๕ บทที่ ๑ และ ๙  ลักษณะที่ ๑๘ บทที่ ๓ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๒๔ ลง ๔ มีนาคม ๒๕๒๔) , บันทึกกองคดี กรมตำรวจ ที่ ๐๕๐๓/๒๑๙๒๓ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๓ เรื่อง หลักเกณฑ์การคืนรถยนต์ของกลางตาม  พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ และ บันทึกกองคดี กรมตำรวจ ที่  ๐๖๐๖.๖/๑๕๓๒๐ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ เรื่อง การคืนรถยนต์ของกลางตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒
                 เพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามข้อบังคับและประมวลระเบียบการดังกล่าวข้างต้น จึงวางหลักปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลาง ดังต่อไปนี้
                 ความหมาย
                 คำว่า “รถ” หมายถึง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถพ่วง รถบดถนน รถแทรกเตอร์ รถใช้งานเกษตรกรรม รถจักรยาน เกวียน รถลาก รถจ้าง ( ป.ระเบียบเกี่ยวกับคดี  ลักษณะที่ ๑๕ บทที่ ๙ ข้อ ๑ )
                 คำว่า “รถของกลาง” หมายถึง รถซึ่งตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่โดยอำนาจแห่งกฎหมาย หรือ โดยหน้าที่ในราชการและยึดไว้เพื่อพิสูจน์ในทางคดี หรือจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
                 (๑)  รถของกลางในคดีอาญา  คือ รถของกลางที่เกี่ยวข้องต้องจัดการทางคดีอาญา  เช่น  รถที่ต้องเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด  เป็นต้น
                 (๒)  รถของกลางอย่างอื่น คือ รถของกลางที่ไม่เข้าอยู่ในลักษณะรถของกลางในคดีอาญา เช่น รถที่ตกอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่โดยหน้าที่ในราชการ เพื่อจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการ เป็นต้น              
(ข้อบังคับการเก็บรักษาของกลาง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๘๐ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๐๔ ข้อ ๔.๕  และ ป.ระเบียบเกี่ยวกับคดี  ลักษณะที่ ๑๕  บทที่ ๑ ข้อ ๔๑๓ และบทที่ ๙ ข้อ ๒)

แนวทางในการปฏิบัติ
                  โดยปกติทั่วไปแล้ว รถจะตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นรถของกลางได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการทำการยึดมาไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี หรือเพื่อจัดการตามหน้าที่ราชการ  ดังนั้น
                  จึงอาจแบ่งการยึดรถของกลางของเจ้าหน้าที่ตำรวจออกเป็น กรณีต่าง ๆ ดังนี้  คือ
                      กรณีที่ ๑  การตรวจยึดไว้เพื่อการจัดการตามหน้าที่ราชการไม่เกี่ยวกับคดีอาญา
                      กรณีที่ ๒  การตรวจยึดไว้เพื่อเป็นรถของกลางในคดีอาญา
                      กรณีที่ ๓  การตรวจยึดไว้เพื่อเป็นรถของกลางในคดีจราจร
                      การปฏิบัติต่อรถของกลางที่ทำการตรวจยึดไว้

กรณีที่ ๑ 
การตรวจยึดไว้เพื่อการจัดการตามหน้าที่ราชการไม่เกี่ยวกับคดีอาญา ให้ปฏิบัติ  ดังนี้
                     ๑. กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถของกลางไว้แล้ว ให้ผู้ยึดนำรถส่งพนักงานสอบสวนโดยด่วน และให้พนักงานสอบสวนประกาศหาเจ้าของ หรือผู้มีสิทธิ์เพื่อมาขอรับรถคืนต่อไป
                     ๒. เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับรถของกลางไว้แล้ว ให้ลงบันทึกในรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับรถของกลาง อันจะเป็นเหตุให้เจ้าของ หรือผู้มีสิทธิ์ จะรับรถของกลางคืนนั้น ทราบว่าเป็นรถของกลาง
                     ๓. พนักงานสอบสวนต้องทำการตรวจสอบหลักฐานหรือส่งรถของกลางไปตรวจพิสูจน์ยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทะเบียนประวัติอาชญากรรม ศปร. กรมการขนส่งทางบก กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร บริษัทตัวแทนจำหน่าย เป็นต้นโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะต้องดำเนินการดังกล่าวนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลา ๓ เดือน นับแต่วันที่ยึดรถ หากไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนดให้เสนอขออนุมัติ ขยายเวลาต่อผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดเพื่อพิจารณาสั่งการ (สำหรับในกรณีจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพฯ ผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด )

การเก็บรักษาของกลางทั่วไป

การปฏิบัติเกี่ยวกับของกลาง
                ๑. ของกลางที่ศาลเป็นผู้เก็บรักษานั้น เมื่อศาลเห็นว่าหมดความจำเป็นที่จะเก็บรักษาไว้ต่อไป ศาลจะแจ้งให้พนักงานอัยการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปรับของกลางมาเก็บรักษา ก็ให้ หน.สถานี หรือผู้รักษาการแทนที่ส่งของกลางไปจัดการ รับมาเก็บรักษาไว้ต่อไป เมื่อคดีถึงที่สุด ศาลสั่งหรือพิพากษาเกี่ยวกับของกลางนั้นอย่างไร ให้ หน.สถานี หรือผู้รักษาการแทนจัดการตามคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลต่อไป คือ
                     (๑) ถ้าของกลางที่ยึดไว้ที่สถานีตำรวจ ก็ให้ หน.สถานี หรือผู้รักษาการแทน จัดการขายทอดตลาด (ดำเนินการตามระเบียบฯ)  หรือส่งคืนให้แก่ผู้มีสิทธิ์รับคืนไป ตามคำพิพากษานั้น ๆ ในเวลาอันควร
                     (๒) ถ้าของกลางนั้น ศาลสั่งคืนเจ้าของ ให้ หน.สถานี หรือผู้รักษาการแทน จัดการติดต่อนำเจ้าของไปขอรับจากศาล หรือไปรับจากศาลเองแล้วลงบัญชีกับรายงานประจำวันให้เจ้าของลงนามรับไปก็ได้ เว้นไว้แต่ของกลางนั้นเจ้าของไปรับคืนจากศาลเอง
                           ถ้าศาลมิได้สั่งการเกี่ยวกับของกลาง ก็ให้ผู้รักษาติดต่อกับพนักงานอัยการผู้ว่าคดีนั้น ยื่นคำร้องขอคำสั่งศาลเกี่ยวกับของกลางนั้นต่อไป ถ้าศาลสั่งว่าของกลางนั้นเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินการ ก็พิจารณาดำเนินการไปตามความเหมาะสมได้ (ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑๕ บทที่ ๑ ข้อ ๔๑๕)
              ๒. ของกลางสิ่งใดที่จะขายทอดตลาด ถ้าเห็นว่าของกลางนั้นเป็นประโยชน์ใช้ในราชการตำรวจได้ ให้ หน.สถานี หรือผู้รักษาการแทน รายงานเสนอเหตุผลไปยังผู้บังคับการหรือผู้รักษาการแทน เป็นผู้พิจารณาสั่งก่อนขายทอดตลาด  (ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑๕ บทที่ ๑ ข้อ ๔๑๖)
              ๓. การขายทอดตลาดของกลาง ให้ตั้งกรรมการประกอบด้วย หน.สถานี หรือผู้รักษาการแทนเป็นประธาน และมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ๑ นาย ชั้นประทวน ๑ นาย เป็นกรรมการพิจารณาขาย ให้ได้ราคาใกล้กับราคาท้องตลาดในขณะนั้น  (ป. เกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑๕ บทที่ ๑ ข้อ ๔๑๗)
             ๔. การเก็บรักษาของกลางให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
                   (๑) ของกลางสิ่งใดมาถึงสถานีตำรวจ ให้พนักงานสอบสวนจดรูปพรรณสิ่งของลงในรายงานประจำวันและสมุดยึดทรัพย์ของกลาง แล้วเขียนเลขลำดับที่ยึดทรัพย์ติดไว้กับสิ่งของนั้นให้มั่นคง อย่าให้หลุดหรือสูญหายได้และเก็บของกลางนั้นไว้ในหีบ หรือตู้เก็บของกลาง ใส่กุญแจให้เรียบร้อย  เว้นแต่ของกลางนั้นมีค่ามาก  เช่น  เครื่องเพชร  เครื่องทองรูปพรรณ  เงินจำนวนมาก หรือเอกสารสำคัญต่าง ๆ ให้เก็บรักษาไว้ในกำปั่น
                        การยึด การมอบ การรับคืนของกลาง ให้ผู้ยึด ผู้มอบ ผู้รับ ลงชื่อไว้ในสมุดยึดทรัพย์ของกลางและรายงานประจำวันเป็นสำคัญ
                   (๒) ให้ หน.สถานี หรือผู้รักษาการแทน เป็นผู้รับผิดชอบเก็บรักษาลูกกุญแจและหีบของกลาง
                   (๓) ของกลางที่เก็บรักษาไว้นั้น เมื่อเห็นว่าหมดความจำเป็นที่จะเก็บรักษาไว้ต่อไป ก็ให้ดำเนินการตามข้อ ๙.๑ , ๙.๒  หรือ ๙.๓  แล้วแต่กรณี
                   (๔) ของกลางในคดีอาญาที่ทราบตัวผู้มีสิทธิจะได้รับของคืนอยู่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ได้แจ้งหรือประกาศให้ทราบ  แต่ผู้นั้นยังไม่ได้มารับของไปเกินกว่า ๑ ปี นับแต่วันที่แจ้งหรือประกาศให้ทราบ ก็ให้ริบของนั้นเป็นของรัฐบาล และหมายเหตุไว้ในบัญชี แล้วจัดการต่อไปดังเช่นของที่ต้องริบ
                   (๕) ของกลางในคดีอาญาที่ไม่ทราบตัวผู้มีสิทธิจะได้รับของคืน ให้ประกาศหาเจ้าของภายใน ๕ ปี นับแต่วันประกาศ ถ้าไม่ได้ตัวผู้มีสิทธิมารับของนั้น ก็ให้ริบเป็นของรัฐบาลและให้จัดการทำนองเดียวกัน
                          อนึ่ง ถ้าปรากฏตัวผู้มีสิทธิจะได้รับของคืนในระหว่างเวลาประกาศ และเจ้าหน้าที่ผู้รักษาได้แจ้ง ให้ทราบแล้วแต่ผู้นั้นยังไม่มารับของคืนไปเช่นนี้ การที่จะริบเป็นของรัฐบาลให้ถือกำหนดเวลา ๑ ปี นับแต่วันที่ผู้มีสิทธิได้ทราบ  ถ้ากำหนดเวลา ๕ ปี ที่ประกาศไว้จะถึงกำหนดเวลาที่เร็วกว่า ก็ให้ถือกำหนดเวลาที่เร็วกว่านั้น

การเก็บรักษาของกลางคดีป่าไม้ ยาเสพติด และแร่

การเก็บรักษาของกลางที่มีระเบียบหรือข้อตกลงในการเก็บรักษาเป็นพิเศษ

ของกลางในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ
               ๑.  เมื่อมีคดีความผิดตามกฎหมายป่าไม้ ให้พนักงานสอบสวนทำการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีให้เสร็จโดยเร็ว สำหรับไม้ของกลางที่ตรวจยึดได้ ให้กรมป่าไม้เป็นผู้ดูแลรักษาตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์                                                                            
               ๒. ในกรณีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด และไม่มีผู้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในไม้ของกลาง ถ้าเป็นไม้สัก ไม้ยาง ในราชอาณาจักร ให้พนักงานสอบสวนส่งคืนไม้ของกลางให้กรมป่าไม้รับไปทันที ถ้าเป็นไม้หวงห้ามอื่นให้ประกาศโฆษณาหาเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ ๓๐ วัน ถ้าไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดต่อสู้กรรมสิทธิ์และป่าไม้จังหวัดนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือยืนยันรับรองว่าไม้ของกลางถูกตัดฟันมาจากป่าในราชอาณาจักรไทย ให้พนักงานสอบสวนคืนไม้ของกลางให้แก่กรมป่าไม้รับไปในทันที เว้นแต่ในกรณีที่พนักงานสอบสวนเห็นว่า จำเป็นจะต้องรักษาไม้ของกลางบางท่อนหรือบางส่วนไว้เพื่อประโยชน์แก่คดีต่อไป ก็อาจขอให้กรมป่าไม้รักษาไว้ก่อนก็ได้ และถ้าผู้กระทำผิดไม่ต่อสู้กรรมสิทธิ์และไม้นั้นเป็นไม้ที่เสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของของกลางนั้น ให้พนักงานป่าไม้ผู้รับผิดชอบร่วมกับพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ  ทำบันทึกรายละเอียดบัญชีไม้ของกลาง ตลอดจนร่องรอยหลักฐานต่าง ๆ แล้วขออนุมัติอธิบดีกรมป่าไม้นำออกขายทอดตลาดก่อนถึงกำหนด แล้วเก็บเงินไว้แทนก็ได้  (ป. เกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑๕ บทที่ ๗ แก้ไขโดยระเบียบ ตร. (ฉบับที่ ๒) ลง ๑๒ ต.ค.๒๕๓๒)
                ๓. ของกลางคดีป่าไม้ทุกคดี เมื่อทำการจับกุมได้ ชั้นต้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำบันทึกนำมอบให้เจ้าพนักงานป่าไม้ในท้องที่เป็นผู้เก็บรักษาไว้ หากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ก็ให้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับไปเก็บรักษาของกลางไว้แทน
                      คำว่า  “ของกลางในคดีป่าไม้”  นอกจากไม้และของป่าผิดกฎหมายแล้ว ยังรวมถึงบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล  ซึ่งใช้หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา ๖๔ ทวิ ด้วย
                      สิ่งของกลางในคดีป่าไม้นั้น บางคดีก็เป็นไม้ท่อนจำนวนมากมาย ยากที่จะเก็บรักษาไว้ในบริเวณสถานีตำรวจได้ และบางคดีก็เป็นยานพาหนะของบุคคลอื่นซึ่งไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด การยึดไว้ อาจเสี่ยงต่อความรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา จึงมีมติของคณะกรรมการป้องกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำบันทึกขอมอบของกลางในคดีป่าไม้ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในท้องที่เป็นผู้เก็บรักษา เว้นแต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ปฏิเสธ จึงให้พนักงานสอบสวนพยายามดำเนินการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นผู้เก็บรักษาของกลางอย่างอื่นนอกจากไม้ไว้ด้วย (หนังสือ ตร.ที่ ๐๖๐๓๓/๑๐๙๒๕ ลง ๗ ก.ย.๒๕๒๗  เรื่องการเก็บรักษาของกลางในคดีความผิดตามกฎหมายป่าไม้)

ยาเสพติดให้โทษของกลาง
            อ้างถึง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา , พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ , พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ และ พ.ร.ก.ป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓  ระเบียบได้แก่ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจับ ยึดและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๗ และระเบียบกระทรวงสารธารณสุขว่าด้วย การเก็บรักษายาเสพติดให้โทษของกลาง พ.ศ. ๒๕๔๑  ทั้งนี้ โดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
              ๑. การตรวจรับของกลางยาเสพติด
                   (๑) พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป นำของกลางมาส่งยังสถานตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พร้อมแสดงบัตรประจำตัว เว้นแต่ยาเสพติดให้โทษ ประเภท ๑ หรือ ๒ ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า ๒๐ กรัม และฝิ่น น้อยกว่า ๕๐๐ กรัม , ยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ น้อยกว่า ๑ กิโลกรัม , วัตถุออกฤทธิ์ น้อยกว่า ๕ กรัม หรือน้อยกว่า ๒๐๐ เม็ด , สารระเหย น้อยกว่า ๑ กิโลกรัม , ยาเสพติดให้โทษประเภท ๔ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ส่งมอบ หรือจะส่งกับการสื่อสารแห่งประเทศไทยในจดหมายไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนได้  (ปัจจุบันมีมติที่ประชุมงานสืบสวนสอบสวนและกฎหมาย ครั้งที่ ๓/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม  ๒๕๕๐ ณ ห้องประชุม ๒ ชั้น ๒ อาคาร ๑ ตร.ว่า การรับ-ส่ง ของกลางตรวจพิสูจน์ทางไปรษณีย์ไปกองพิสูจน์หลักฐานไม่อาจกระทำได้ )
                   (๒) ของกลางที่นำมาส่ง ต้องบรรจุในภาชนะที่เรียบร้อย แข็งแรง ปิดผนึก ปิดทับด้วยแบบ ป.ป.ส.๖-๓๑
                   (๓) คณะกรรมการตรวจรับ ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่า ๒ คน ในกรณีที่จำเป็น ผู้ตรวจพิสูจน์หนึ่งคน อาจดำเนินการตรวจรับร่วมกับเจ้าหน้าที่อื่นที่เป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือข้าราชการตั้งแต่ระดับ ๓ ขึ้นไป
                   (๔) การตรวจสอบของกลาง ตรวจสอบต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้นำส่ง แล้วบันทึกรายละเอียดต่าง ๆทั้งหมด ในใบตรวจรับของกลางยาเสพติด พร้อมทั้งลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับของกลาง

ความหมายและประเภทของกลาง
             ๑) ของกลาง คือ วัตถุใด ๆ หรือทรัพย์สิน ซึ่งตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าพนักงาน โดยอำนาจของกฎหมายหรือโดยหน้าที่ในทางราชการ และได้ยึดไว้เป็นของกลางเพื่อพิสูจน์ในทางคดี หรือเพื่อจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการ
             ๒) ของกลาง แบ่งออกเป็น  ๒  ประเภท คือ
                   -  ของกลางในคดีอาญา ได้แก่ ของกลางที่เกี่ยวข้องต้องจัดการทางคดีอาญา เช่น ของที่บุคคลมีไว้ หรือใช้เป็นความผิด หรือเป็นของที่ใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิด
                   -  ของกลางอย่างอื่น คือ ของกลางที่ไม่เข้าอยู่ในลักษณะของกลางในคดีอาญา เช่น ของที่เก็บตก หล่น หลุด ลอยไหลได้ เป็นต้น (ข้อบังคับการเก็บรักษาของกลางกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๘๐ ลักษณะ ๑ ข้อ ๔, ข้อ ๕)

ที่มาของกลางในคดีอาญา  
           ได้แก่  สิ่งของดังต่อไปนี้
            ๑.   สิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด เช่น ยาเสพติด  ปืนเถื่อน ธนบัตรปลอม เป็นต้น
            ๒.   สิ่งของซึ่งได้มาโดยผิดกฎหมาย เช่น ไม้เถื่อน แร่เถื่อน เป็นต้น
            ๓.   สิ่งของซึ่งได้ใช้ หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำผิด เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล  อาวุธ เป็นต้น
            ๔.   สิ่งของที่ใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด คือ สิ่งของที่เป็นวัตถุพยานต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้าที่ผู้ต้องหาสวมใส่ในขณะกระทำผิด หรือเสื้อผ้าผู้ต้องหาซึ่งเปื้อนเลือดของผู้ตาย หรือรถยนต์ซึ่งได้ดัดแปลงและใช้ซุกซ่อนยาเสพติด เป็นต้น  (ป.วิ.อ. ม.๑๓๒ (๒),(๓),(๔))

การรวบรวมของกลางประกอบคดี  
             พนักงานสอบสวนมีอำนาจดังนี้
             ๑. หมายเรียกบุคคล  ซึ่งครอบครองสิ่งของ ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ให้จัดส่งสิ่งของนั้นมาให้  พนักงานสอบสวน แต่หากว่าบุคคลที่ถูกหมายเรียกได้จัดส่งสิ่งของมาตามหมายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมาด้วยตนเอง ให้ถือเสมือนว่าได้ปฏิบัติตามหมาย หากไม่ปฏิบัติตามหมายแล้วก็อาจมีความผิดฐานขัดคำบังคับของพนักงานสอบสวน ตาม ป.อ. มาตรา ๑๖๙
             ๒.  ค้นเพื่อพบของกลางนั้น คือ
                      -  ขอออกหมายค้นในที่รโหฐาน แล้วจัดการค้นหาของกลางตามหมายนั้น หรือถ้าเป็นกรณีที่ขอค้น         ที่รโหฐานได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นก็จัดการให้เป็นไปตามนั้น (ป.วิ.อ. ม.๖๙, ๙๒ (๔))
                      -  ค้นที่สาธารณะ หรือค้นตัวบุคคลที่สงสัยในที่สาธารณะ (ป.วิ.อ. ม.๙๓)
                      -  ค้นตัวผู้ต้องหา และยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานไว้ประกอบคดี (ป.วิ.อ. ม.๑๓๒)
                      -  ในกรณีที่ค้นโดยไม่มีหมาย โดยเจ้าพนักงานอื่นซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวน ให้ส่งบันทึกการตรวจค้นบัญชี และสิ่งของไปยังพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ใดซึ่งต้องการสิ่งเหล่านั้น (ป.วิ.อ. มาตรา ๑๐๔ วรรคสอง)
             ๓. ขออายัดของกลางไว้ คือ แจ้งให้ผู้ครอบครองของกลางไว้ มิให้จำหน่ายจ่ายโอนของกลางนั้น และส่งมอบต่อพนักงานสอบสวน (ป.วิ.อ. ม.๑๓๑ (๔))
             ๔. ขอคำสั่งศาลถึงเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์โทรเลข ให้ส่งเอกสารของผู้ต้องหาที่อยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์และมิใช่เอกสารโต้ตอบระหว่างผู้ต้องหากับทนายความของตนมาให้พนักงานสอบสวน หากเห็นว่าเอกสารเหล่านั้นมีลักษณะเป็นของกลางในคดี (ป.วิ.อ. ม. ๑๐๕)
             ๕. รับมอบของกลางจากพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นมาประกอบคดี เช่น รับมอบของกลางจากเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือพนักงานป่าไม้ผู้จับกุมและยึดของกลางมาได้ (ป.วิ.อ. ม.๘)
            ๖.  พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด เพื่อใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน ๓ ปี หากต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด  เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบของร่างกายผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง  พนักงานสองสวนมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจได้ โดยใช้วิธีการเจ็บปวดน้อยที่สุด และผู้นั้นต้องให้ความยินยอม  (ป.วิ.อ. ม.๑๓๑/๑)