วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

การยึดและคืนรถของกลาง

การยึดและการคืนรถยนต์ของกลางในคดี พ.ร.บ.จราจรทางบก
                 อ้างถึง ข้อบังคับการเก็บรักษาของกลาง กระทรวงมหาดไทย  พ.ศ.๒๔๘๐ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๐๔ , ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๑๕ บทที่ ๑ และ ๙  ลักษณะที่ ๑๘ บทที่ ๓ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๒๔ ลง ๔ มีนาคม ๒๕๒๔) , บันทึกกองคดี กรมตำรวจ ที่ ๐๕๐๓/๒๑๙๒๓ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๓ เรื่อง หลักเกณฑ์การคืนรถยนต์ของกลางตาม  พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ และ บันทึกกองคดี กรมตำรวจ ที่  ๐๖๐๖.๖/๑๕๓๒๐ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ เรื่อง การคืนรถยนต์ของกลางตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒
                 เพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามข้อบังคับและประมวลระเบียบการดังกล่าวข้างต้น จึงวางหลักปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลาง ดังต่อไปนี้
                 ความหมาย
                 คำว่า “รถ” หมายถึง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถพ่วง รถบดถนน รถแทรกเตอร์ รถใช้งานเกษตรกรรม รถจักรยาน เกวียน รถลาก รถจ้าง ( ป.ระเบียบเกี่ยวกับคดี  ลักษณะที่ ๑๕ บทที่ ๙ ข้อ ๑ )
                 คำว่า “รถของกลาง” หมายถึง รถซึ่งตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่โดยอำนาจแห่งกฎหมาย หรือ โดยหน้าที่ในราชการและยึดไว้เพื่อพิสูจน์ในทางคดี หรือจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
                 (๑)  รถของกลางในคดีอาญา  คือ รถของกลางที่เกี่ยวข้องต้องจัดการทางคดีอาญา  เช่น  รถที่ต้องเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด  เป็นต้น
                 (๒)  รถของกลางอย่างอื่น คือ รถของกลางที่ไม่เข้าอยู่ในลักษณะรถของกลางในคดีอาญา เช่น รถที่ตกอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่โดยหน้าที่ในราชการ เพื่อจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการ เป็นต้น              
(ข้อบังคับการเก็บรักษาของกลาง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๘๐ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๐๔ ข้อ ๔.๕  และ ป.ระเบียบเกี่ยวกับคดี  ลักษณะที่ ๑๕  บทที่ ๑ ข้อ ๔๑๓ และบทที่ ๙ ข้อ ๒)

แนวทางในการปฏิบัติ
                  โดยปกติทั่วไปแล้ว รถจะตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นรถของกลางได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการทำการยึดมาไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี หรือเพื่อจัดการตามหน้าที่ราชการ  ดังนั้น
                  จึงอาจแบ่งการยึดรถของกลางของเจ้าหน้าที่ตำรวจออกเป็น กรณีต่าง ๆ ดังนี้  คือ
                      กรณีที่ ๑  การตรวจยึดไว้เพื่อการจัดการตามหน้าที่ราชการไม่เกี่ยวกับคดีอาญา
                      กรณีที่ ๒  การตรวจยึดไว้เพื่อเป็นรถของกลางในคดีอาญา
                      กรณีที่ ๓  การตรวจยึดไว้เพื่อเป็นรถของกลางในคดีจราจร
                      การปฏิบัติต่อรถของกลางที่ทำการตรวจยึดไว้

กรณีที่ ๑ 
การตรวจยึดไว้เพื่อการจัดการตามหน้าที่ราชการไม่เกี่ยวกับคดีอาญา ให้ปฏิบัติ  ดังนี้
                     ๑. กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถของกลางไว้แล้ว ให้ผู้ยึดนำรถส่งพนักงานสอบสวนโดยด่วน และให้พนักงานสอบสวนประกาศหาเจ้าของ หรือผู้มีสิทธิ์เพื่อมาขอรับรถคืนต่อไป
                     ๒. เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับรถของกลางไว้แล้ว ให้ลงบันทึกในรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับรถของกลาง อันจะเป็นเหตุให้เจ้าของ หรือผู้มีสิทธิ์ จะรับรถของกลางคืนนั้น ทราบว่าเป็นรถของกลาง
                     ๓. พนักงานสอบสวนต้องทำการตรวจสอบหลักฐานหรือส่งรถของกลางไปตรวจพิสูจน์ยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทะเบียนประวัติอาชญากรรม ศปร. กรมการขนส่งทางบก กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร บริษัทตัวแทนจำหน่าย เป็นต้นโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะต้องดำเนินการดังกล่าวนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลา ๓ เดือน นับแต่วันที่ยึดรถ หากไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนดให้เสนอขออนุมัติ ขยายเวลาต่อผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดเพื่อพิจารณาสั่งการ (สำหรับในกรณีจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพฯ ผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด )

                     ๔. เมื่อพนักงานสอบสวนได้ประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์รับรถคืนตามข้อ ๑ ครบกำหนด ๖ เดือนนับแต่วันยึดรถแล้ว ไม่มีบุคคลได้มาแสดงความเป็นเจ้าของรถของกลาง และพนักงานสอบสวนเห็นว่า รถของกลางนั้นหากหน่วงช้าไว้ จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สิน ให้ทำความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาด เพื่อขอความเห็นชอบขายทอดตลาดรถของกลางดังกล่าวต่อไป
                     ๕. หากปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของรถของกลางหรือผู้มีสิทธิ์จะรับรถคืน และเป็นกรณีไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดอาญา หรือไม่เป็นรถที่ถูกโจรกรรมมา ให้ติดต่อผู้นั้นนำหลักฐานมาแสดงเพื่อขอรับรถคืนไป โดยทั้งนี้ พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับเหตุที่ตรวจยึดรถของกลางมาไว้ในความคุ้มครองด้วย (ถ้ามี)
                     ๖.  ในกรณีตามข้อ ๕. และเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหรือเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมา ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการประสานกับทางสถานีตำรวจเจ้าของคดี เพื่อให้มาติดต่อขอรับรถไปประกอบการดำเนินคดีต่อไป (ห้ามมอบแก่บุคคลอื่นแม้แต่เจ้าของรถโดยเด็ดขาด)

กรณีที่ ๒
การตรวจยึดไว้เพื่อเป็นรถของกลางในคดีอาญา) ให้พิจารณาแยกการดำเนินการเป็นกรณีต่าง ๆ  ดังนี้ 
                       ก.  คดีไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด   ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาดังนี้  คือ
                               ๑. กรณีรู้ตัวผู้เป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ขอรับรถคืน โดยเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ขอรับรถคืนมิได้มีส่วนรู้เห็นด้วยในการกระทำความผิดของคนร้าย
                                     ๑.๑ ให้แจ้งเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ขอรับรถคืน มาขอรับรถคืนไป ถ้าผู้นั้นไม่มารับรถของกลางคืนไป เกินกว่า ๑ ปี  นับแต่วันที่แจ้งให้ทราบ ให้ริบรถของกลางตกเป็นของแผ่นดิน (ป.พ.พ. ม. ๑๓๒๗)
                                     ๑.๒  ถ้าเจ้าของมาขอรับรถคืนภายในกำหนด ๑ ปี ให้พิจารณาคืนรถแก่เจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ขอรับรถคืน โดยมีเงื่อนไขตามสมควรที่เจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์จะต้องสามารถนำรถของกลางมามอบให้พนักงานสอบสวนได้ (ป.วิ.อ. ม. ๘๕/๑) ในเมื่อพนักงานสอบสวนต้องการนำรถของกลางมาเป็นหลักฐานในทางคดีต่อไป ทั้งนี้ เพราะคดีไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดนั้น เป็นคดีที่ยังไม่ยุติเพราะอาจมีการจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้ภายหลังก็ได้ (ป.วิ.อ. ม. ๘๕  วรรคท้าย)
                              ๒. กรณีไม่รู้ตัวผู้เป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ขอรับรถคืน ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการปฏิบัติต่อรถของกลางที่ทำการตรวจยึดในกรณีที่ ๑ ดังที่กล่าวมาแล้ว และในกรณีเช่นนี้รถของกลางจะตกเป็นของแผ่นดินเมื่อพ้นกำหนด ๕ ปี นับแต่วันที่รถนั้นตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ป.พ.พ. ม. ๑๓๒๗ )
                              ๓. ทั้งข้อ ๑ และ ๒ เมื่อรถของกลางตกเป็นของแผ่นดินแล้ว พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติต่อของกลางไปตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่อไป
                         ข. คดีที่มีตัวผู้กระทำผิด (จับตัวได้)  ให้พนักงานสอบสวนพิจารณา ดังนี้
                                ๑. รถของกลางเป็นของผู้ต้องหา และเป็นรถที่ผู้ต้องหาได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด  หรือได้มาจากการกระทำผิด ให้ยึดไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด (ป.อ. ม. ๓๓ และ ป.วิ.อ. ม. ๘๕ วรรคท้าย)
                                ๒. รถของกลางเป็นของผู้ต้องหา แต่มิได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเหมือนข้อ ๑ ให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลพินิจคืนแก่ผู้ต้องหา (ป.วิ.อ. ม. ๘๕ วรรคท้าย) ผู้ต้องหาต้องมาขอรับคืนภายใน ๑ ปี ถ้าเกินกว่านี้รถของกลางย่อมตกเป็นของแผ่นดิน (ป.พ.พ. ม. ๑๓๒๗)
                               ๓. รถของกลางเป็นของผู้อื่นที่รู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำผิด ให้ปฏิบัติทำนองเดียวกับที่กล่าวมาในข้อ ๑
                               ๔.  รถของกลางเป็นของผู้อื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด ให้ดำเนินการ ดังนี้ คือ
                                      ๔.๑ พิจารณาดูว่ารถของกลางนั้นมีความจำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องยึดไว้เป็นหลักฐานในทางคดีต่อไปหรือไม่  ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถยึดไว้ได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด (ป.วิ.อ. ม. ๘๕) แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นก็ให้พิจารณาคืนแก่เจ้าของ
                                     ๔.๒  ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะยึดไว้อีกต่อไป ให้แจ้งให้เจ้าของทราบ และถ้าเกินกว่า ๑ ปีแล้ว เจ้าของไม่มาขอรับคืนไป รถของกลางย่อมตกเป็นของแผ่นดิน (ป.พ.พ. ม. ๑๓๒๗)
                                     ๔.๓  ในกรณีที่เจ้าของขอรับรถคืน ไม่ว่าจะเป็นกรณีจำเป็นที่จะต้องใช้รถเป็นพยานหลักฐานทางคดีหรือพิสูจน์ความผิดหรือไม่ก็ตาม ให้พิจารณาคืนหรือไม่คืนตามความเหมาะสม หรือจะคืนโดยมีเงื่อนไขให้เจ้าของนำรถมาส่งมอบให้พนักงานสอบสวนเมื่อพนักงานสอบสวนต้องการรถมาประกอบคดีก็ได้ (ป.วิ.อ. ม.๘๕/๑)
                               ๕. ถ้าไม่รู้ตัวผู้เป็นเจ้าของรถของกลางหรือผู้มีสิทธิ์ขอรับรถคืน ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการปฏิบัติต่อรถของกลางที่ทำการตรวจยึดในกรณีที่ ๑ และเมื่อทราบตัวผู้เป็นเจ้าของแล้ว ให้พิจารณาเช่นเดียวกับข้อ ๑ – ๔ ดังกล่าวแล้วข้างต้น  แต่ถ้าไม่สามารถรู้ตัวผู้เป็นเจ้าของได้เกินกว่า ๕ ปี นับแต่วันที่ตกมาอยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รถของกลางย่อมตกเป็นของแผ่นดิน และกรณีที่รถตกเป็นของแผ่นดินแล้ว พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติต่อรถของกลางไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่อไป
                        ค. คดีที่รู้ตัวผู้ต้องหาแต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้  ให้พนักงานสอบสวนถือปฏิบัติ เช่นเดียวกับคดีที่มีตัวผู้กระทำผิดตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ ข.
                        ง. คดีที่สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา  ให้พนักงานสอบสวนพิจารณา  ดังนี้ คือ
                             ๑. กรณีเป็นคดีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา
                                   ๑.๑  กรณีเป็นคดีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา หมายถึง คดีที่สั่งไม่ฟ้องเสร็จเด็ดขาดไปเลย มิใช่สั่งฟ้องผู้ต้องหาบางคนแต่ยังมีผู้ต้องหาอีกบางคนที่จะต้องสั่งจับภายในอายุความ  กรณีเช่นนี้ พนักงานสอบสวนต้องพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับรถของกลางไปตามความ ป.วิ.อ. ม. ๘๕ วรรคท้าย นั่นคือ คืนให้แก่ผู้ต้องหา หรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิ์เรียกร้องขอคืนรถของกลางนั้น แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือผู้มีสิทธิเรียกร้องขอคืนรถของกลางไม่ขอคืนเกินกว่า ๑ ปี นับแต่วันที่รถตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รถนั้นย่อมตกเป็นของแผ่นดิน (ป.พ.พ. ม.๑๓๒๗)
                                  ๑.๒  ในกรณีสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหานี้ ถ้าไม่รู้ตัวผู้เป็นเจ้าของรถของกลางและรถของกลางมิได้เป็นของผู้ต้องหาด้วยแล้ว ให้พิจารณาดำเนินการเช่นเดียวกันกับการปฏิบัติต่อรถของกลางที่ทำการตรวจยึดในกรณีที่ ๑ ดังกล่าวมาแล้ว และเมื่อพ้น ๕ ปี นับแต่วันที่รถตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  รถของกลางย่อมตกเป็นของแผ่นดิน (ป.พ.พ. ม.๑๓๒๗)
                            ๒. กรณีพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา  ในกรณีเช่นนี้ ให้พิจารณาเกี่ยวกับรถของกลางไปในทำนองเดียวกันกับ ข้อ ข. และ ค. ดังกล่าวข้างต้น

หมายเหตุ.-  กรณีพนักงานสอบสวนจะพิจารณาว่า จะคืนของกลางในคดีอาญาทั่วไป ให้กับเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ขอรับรถคืนได้หรือไม่  ให้พิจารณาดังนี้  คือ
               ๑. ของกลางที่กฎหมายให้ศาลริบ  มีดังนี้  คือ
                     ๑.๑  ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำผิดและมีผู้ต้องถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่  (ป.อ. ม. ๓๒)
                    ๑.๒  ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด และทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำผิด (ป.อ. ม.๓๓)
                    ๑.๓  ทรัพย์สินซึ่งได้ให้ หรือจะให้ (สินบน)  ตามความใน ป.อ. ม.๑๔๓, ๑๔๔, ๑๔๙, ๑๕๐, ๑๖๗, ๒๐๑ และ ๒๐๒ (ป.อ. ม.๓๔(๑))
                    ๑.๔  ทรัพย์สินที่ได้ให้เพื่อจูงใจบุคคลให้กระทำความผิด หรือเพื่อเป็นรางวัลในการที่บุคคลได้กระทำผิด   (ป.อ. ม.๓๔(๒))
               ๒.  กฎหมายที่ให้อำนาจในการใช้ดุลพินิจ  ได้แก่ ป.วิ.อ. ม.๘๕ วรรคท้าย และ ป.พ.พ.  ม.๑๓๒๗ วรรคแรก
               ๓.  การปฏิบัติต่อของกลางที่มีกฎหมายพิเศษบัญญัติไว้  ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามบทบัญญัตินั้น ๆ การปฏิบัติอื่น ๆ เกี่ยวกับรถของกลางให้เป็นไปตามรายละเอียดดังที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับการเก็บรักษาของกลางกระทรวงมหาดไทย และประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีดังที่อ้างถึงทุกประการ

กรณีที่ ๓  
การตรวจยึดไว้เพื่อเป็นรถของกลางในคดีจราจร ให้พิจารณาแยกดำเนินการเป็นกรณีต่าง ๆ ดังนี้
                 ก. กรณีที่ผู้ต้องหา(ผู้ขับขี่) ไม่ได้หลบหนี
                   ๑. ให้พนักงานสอบสวนทำบันทึกหลังการตรวจยึดหรือนำรถของกลางที่เกิดเหตุเข้ามาไว้ในความคุ้มครอง ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานีตำรวจทราบ เพื่อสั่งการเกี่ยวกับรถดังกล่าวทันทีที่นำรถมาไว้ในความคุ้มครอง
                  ๒. ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย สั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเพื่อตรวจสภาพ หรือตรวจพิสูจน์รถของกลางตามความเหมาะสมหรือตามสมควรแก่กรณีที่จะต้องทำการตรวจ และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๓ วันนับแต่วันที่รถได้ตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมายฯ ขยายเวลาออกไปได้ ไม่เกิน ๗ วัน
                 ๓.  เมื่อดำเนินการตามข้อ ๒ เสร็จแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้เจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ขอรับรถคืน มาทำคำร้องเพื่อขอรับรถคืนต่อพนักงานสอบสวน แล้วให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นในคำร้องนั้น เสนอต่อหัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมายฯ ในทันทีที่ได้รับคำร้อง เพื่อสั่งการต่อไป
                ๔.  ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย ใช้ดุลยพินิจในการสั่งคืนรถให้กับเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ขอรับรถคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๘๕ วรรคท้าย โดยเน้นไปในทางที่ให้สั่งคืน เว้นเสียแต่ว่าจะมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยึดรถไว้เพื่อเป็นหลักฐานหรือประกอบการพิจารณาคดีหรือพิสูจน์ความผิดต่อไป
               ๕. การใช้ดุลพินิจของหัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับคำร้อง
               ๖.  ถ้าหัวหน้าสถานีหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย มีความเห็นไม่คืนรถของกลาง ให้แจ้งความเห็นนั้นพร้อมเหตุผลและความจำเป็นแก่ผู้ร้องทราบภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับคำร้อง แล้วให้เสนอความเห็นไม่คืนรถของกลางนี้ต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมายฯ  เพื่อพิจารณาสั่งในทันทีที่หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมายฯ มีคำสั่งไม่คืน และให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย ใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องนี้ให้แล้วเสร็จภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับทราบความเห็นของหัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมายฯ
               ๗. ถ้าผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย มีความเห็นไม่คืนรถของกลาง ให้แจ้งพนักงานสอบสวนแจ้งเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่คืนรถของกลางให้ผู้ร้องทราบภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับความเห็นจากหัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมายแล้วให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย เสนอความเห็นไม่คืนรถของกลางนี้ต่อผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย เพื่อพิจารณาสั่งภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับความเห็นจากหัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย
               ๘. การพิจารณาสั่งคำร้องของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค หรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย ให้ถือเป็นที่สุด
               ๙. ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย รายงานสถานภาพของรถของกลางในคดีจราจร ทั้งที่รับเลขคำร้องทุกข์และไม่ได้รับเลขคำร้องทุกข์ในแต่ละเดือนให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดทราบในวันที่ ๕ ของเดือนถัดไป โดยให้ปรากฏรายละเอียดว่าในแต่ละเดือนมีการตรวจยึดรถของกลางคดีจราจรจำนวนกี่คัน คืนแก่ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ขอรับคืนไปกี่คัน เหลือกี่คัน มีรถของกลางที่ยังคงยึดไว้ในเดือนก่อน ๆ ที่ผ่านมากี่คัน  และให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย กวดขันและกำชับเพื่อมิให้มีรถของกลางตกค้างอยู่ในสถานีตำรวจเป็นจำนวนมากโดยไม่มีเหตุจำเป็น
             ข. กรณีที่ผู้ต้องหา(ผู้ขับขี่) หลบหนี
                      ๑. ในการนำรถของกลางที่เกิดเหตุเข้ามาในความคุ้มครองและการตรวจสภาพรถของกลางให้ดำเนินการเช่นเดียวกับกรณีที่ผู้ต้องหา(ผู้ขับขี่)ไม่หลบหนี ข้อ ๑ และ ๒
                      ๒. สำหรับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการคืนรถของกลางให้ถือปฏิบัติตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๑๘ บทที่ ๓ ข้อ ๕๐๕ (แก้ไขเพิ่มเติมโดย ป.เกี่ยวกับคดี (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๒๔ ลง ๔ มี.ค.๒๕๒๔ บันทึกกองบังคับคดี กรมตำรวจที่ ๐๕๐๓/๒๑๙๒๓ ลง ๑๘ ส.ค.๒๕๒๓ เรื่อง หลักเกณฑ์การคืนรถของกลางตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ และบันทึกกองคดี กรมตำรวจ ที่  ๐๖๐๖.๖/๑๕๓๒๐ ลง ๓ พ.ย.๒๕๔๐ เรื่อง การคืนรถยนต์ของกลางตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒)
                      ๓. สำหรับระยะเวลาในการพิจารณาสั่งคำร้องขอคืนรถของกลาง เมื่อพนักงานสอบสวนและผู้ร้องขอคืนรถของกลางได้ดำเนินการตามข้อ ๑ และ ๒ เสร็จสิ้นแล้วให้ปฏิบัติ ดังนี้
                            ๓.๑ เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องขอคืนรถของกลางจากผู้ร้องแล้ว ให้พิจารณามีความเห็นเสนอหัวหน้าสถานีตำรวจโดยเร็วที่สุด
                             ๓.๒ หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย เมื่อได้รับคำร้องพร้อมความเห็นจากพนักงานสอบสวนตามข้อ ๓.๑ แล้วให้ใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องโดยเร็วแล้วให้แจ้งผลการสั่งคำร้องพร้อมเหตุผลให้ผู้ร้องทราบภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับคำร้อง
                             ๓.๓ ในกรณีที่หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย มีความเห็นไม่คืนรถของกลางแก่ผู้ร้อง ให้หัวหน้าสถานีตำรวจเสนอความเห็นไม่คืนรถของกลางต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด
เพื่อพิจารณาสั่งในทันทีหลังจากที่หัวหน้าสถานีตำรวจมีคำสั่ง และให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหรือผู้ทำการแทน ที่ได้รับมอบหมาย ใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องนี้ให้แล้วเสร็จภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับความเห็นของหัวหน้าสถานีหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย
                             ๓.๔ ในกรณีที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย มีความเห็นไม่คืนรถของกลางให้แจ้งให้พนักงานสอบสวนแจ้งเหตุผล และความจำเป็นที่ไม่คืนรถของกลางให้ผู้ร้องทราบภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับความเห็นจากหัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมายแล้ว ให้ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมายเสนอความเห็นไม่คืนรถของกลางต่อผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย เพื่อพิจารณาสั่งคำร้องนั้นภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับความเห็นจากหัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย
                             ๓.๕ ให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคหรือผู้ทำการแทนที่ได้รับมอบหมาย พิจารณาสั่งคำร้องหมายข้อ ๓.๔  ตามสมควรแก่กรณี
                          ๔. ให้หัวหน้าสถานีตำรวจ และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ปฏิบัติในการรายงานสถานภาพของรถของกลาง เช่นเดียวกับการปฏิบัติในกรณีที่ผู้ต้องหา(ผู้ขับขี่) ไม่หลบหนี ตามข้อ  ๙

การขอรับรถคืน
            การคืนของกลางตาม ป.วิ.อ. ม.๘๕
                  ๑. อำนาจในการคืนสิ่งของที่ยึดไว้เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน ไม่ใช่เป็นอำนาจของพนักงานอัยการ
                  ๒. การคืนสิ่งของต้องคืนให้แก่ผู้ต้องหาหรือผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนของนั้นเท่านั้น
                  ๓. การที่คืนสิ่งของได้เมื่อใดนั้น กฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดสิ่งของไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด
                 ๔. แม้คดียังไม่ถึงสิ้นสุด หากผู้มีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น และพนักงานสอบสวนเห็นว่าสิ่งของนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี พนักงานสอบสวนก็อาจคืนสิ่งของได้ก่อนคดีสิ้นสุด
                 ๕. แม้คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของ พนักงานสอบสวนก็ไม่จำเป็นคืนสิ่งของให้แก่ผู้ใด และสิ่งของนั้นย่อมตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๒๗
                 ๖. กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี และแจ้งให้พนักงานสอบสวนจัดการเกี่ยวกับของกลางตาม ป.วิ อ. มาตรา ๘๕ เป็นเพียงคำแนะนำของพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่าของกลางเป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจไม่คืนของกลางให้แก่ผู้ต้องหาหรือผู้อื่น ซึ่งไม่มีสิทธิเรียกร้องขอคืนนั้นได้

ข้อพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องการคืนรถของกลาง
               ๑. ตามกฎหมายและระเบียบข้างต้น ให้คืนรถแก่คนใดคนหนึ่ง คือ เจ้าของ หรือผู้ครอบครองรถ (ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑๘ บทที่ ๓)
                     “เจ้าของ”  คือ ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในรถนั้น
                      แม้รถยนต์จะเป็นสังหาริมทรัพย์ และทะเบียนรถมิใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ แต่ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถ ย่อมมีหลักฐานแสดงว่าเป็นเจ้าของในรถนั้นยิ่งกว่าผู้อื่น
                      “ผู้ครอบครอง”  คือ ผู้ที่ยึดถือรถนั้นไว้โดยเจตนายึดถือเพื่อตน (ป.พ.พ. ม.๑๓๖๗) และโดยที่รถเป็นสังหาริมทรัพย์ถ้าตกอยู่ในความครอบครองของผู้ใดกฎหมายให้ถือว่าบุคคลนั้นมีสิทธิ์ในทรัพย์นั้นยิ่งกว่าบุคคลอื่น แต่ต้องได้ทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต (ป.พ.พ. ม. ๑๓๐๓ วรรคแรก)
                      ผู้เช่าซื้อย่อมเป็นผู้ครอบครองรถนั้น แต่บริษัทหรือเจ้าของรถที่ให้เช่าซื้อย่อมมีกรรมสิทธิ์ในรถคันนั้นในระหว่างอายุการเช่าซื้อ
                ๒. ผู้เช่าซื้อรถ ย่อมมีสิทธิ์รับรถคันเกิดเหตุคืนไปด้วยตนเองได้
                ๓. กรณีที่ทั้งผู้เช่าซื้อและเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ ต่างขอรับรถของกลางคืนและตกลงกันไม่ได้ กรณีนี้เห็นว่า ต้องวินิจฉัยสัญญาเช่าซื้อว่าใครมีสิทธิ์ดีกว่ากัน เช่น ถ้าผู้เช่าซื้อรถผิดสัญญา ผิดนัด ไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ จะทำให้สัญญานั้นเลิกกันไปทันทีโดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหรือไม่ ถ้าสัญญาเลิกกันไปทันทีโดยไม่จำเป็นต้องบอกเลิกก่อน ผู้ให้เช่าซื้อก็มีสิทธิครอบครองรถคันนั้นคืนทันที ดังนี้เป็นต้น ซึ่งต้องคืนรถนั้นให้เจ้าของไป (ป.พ.พ. ม.๕๗๔)
                    กรณีที่มีข้อโต้แย้งดังกล่าว ให้รายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อหารือในข้อกฎหมาย พนักงานสอบสวนไม่ควรแนะนำให้ไปฟ้องร้องต่อศาล เพราะถ้าเขาจะฟ้องก็จะต้องฟ้อง ตร. และพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ยึดรถนั้นไว้และไม่ยอมคืนรถให้เขา เนื่องจากเป็นผู้โต้แย้งสิทธิ์ของเขา ไม่ใช่ไปขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ เพราะกฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้น  (ป.วิ.พ.  ม.๕๕)
                ๔. มาตรา ๘๕  เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับไว้ มีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหาและยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ การค้นนั้นจักต้องทำโดยสุภาพ ถ้าค้นผู้หญิงต้องให้หญิงอื่นเป็นผู้ค้นสิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่น ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น

การคืนของกลางตาม ป.วิ.อ. ม. ๘๕/๑
                 มาตรา ๘๕/๑ ในระหว่างสอบสวน สิ่งของที่เจ้าพนักงานได้ยึดไว้ซึ่งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ถ้ายังไม่ได้นำสืบหรือแสดงเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี เจ้าของหรือผู้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ อาจยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อขอรับสิ่งของนั้นไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์โดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้
                 การสั่งคืนสิ่งของตามวรรคหนึ่งจะต้องไม่กระทบถึงการใช้สิ่งของนั้นเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในภายหลัง ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งโดยมิชักช้า โดยอาจเรียกประกันจากผู้ยื่นคำร้องหรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้บุคคลนั้นปฏิบัติ และหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือบุคคลดังกล่าวไม่ยอมคืนสิ่งของนั้นเมื่อมีคำสั่งให้คืน ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี มีอำนาจยึดสิ่งของนั้นกลับคืนและบังคับตามสัญญาประกันเช่นว่านั้นได้ วิธีการยื่นคำร้อง เงื่อนไขและการอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
                 ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการไม่อนุญาต และให้ศาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต  ศาลอาจเรียกประกันหรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด

การจัดการเกี่ยวกับรถยนต์ของกลางในคดีอื่น ๆ (บางเรื่อง)
                 ๑. รถยนต์ซึ่งเป็นของกลางในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา ๑๑ (ฐานทำไม้โดยผิดกฎหมาย ) มาตรา ๔๘ (ความผิดเกี่ยวกับการแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปผิดกฎหมาย)  มาตรา ๕๔ (ความผิดเกี่ยวกับการบุกรุกทำลายป่า)  มาตรา ๖๙ (ความผิดฐานมีไม้ที่ยังไม่ได้แปรรูปโดยผิดกฎหมาย) นั้น
                    พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มีอำนาจยึดไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา ๖๔ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๑๘  มาตรา ๒๖  และพนักงานสอบสวนมีอำนาจยึดไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๘๕, ๑๓๒, ๑๓๓  ซึ่งในทางปฏิบัติในกรณีพนักงานสอบสวนยึดไว้ ก็ควรมอบให้พนักงานป่าไม้เก็บรักษาไว้ตามข้อตกลงและระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง      
                 ๒.  รถยนต์ของกลางซึ่งใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
                        -  การยึดรถยนต์ของกลางในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นการยึดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒
                        -  บรรดายาเสพติด เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ หรือวัตถุอื่นซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น
                        -  พนักงานสอบสวนจะต้องยึดทรัพย์สินนั้นจนกว่าศาลจะมีพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น
                        -  ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
                        -  พนักงานสอบสวนจะส่งคืนทรัพย์สินไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นไม่ได้
                        -  ในกรณีที่มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาแต่นำตัวมาฟ้องต่อศาลไม่ได้ เพราะผู้ต้องหาหลบหนี และรถยนต์เป็นยานพาหนะซึ่งผู้ต้องหาใช้ในการกระทำผิด พนักงานสอบสวนต้องยึดรถยนต์ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับรถยนต์นั้น
                       -  ถ้ารถยนต์ของกลางนั้นอยู่ในระหว่างเช่าซื้อมา แล้วนำมาใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พนักงานสอบสวนจะคืนให้กับผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะศาลอาจริบได้
                       -  ถ้าหากผู้เช่าซื้อจะฟ้องให้พนักงานสอบสวนคืนรถยนต์ของกลางหรือรับผิดทางแพ่ง ถือว่าไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ให้เช่าซื้อ พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนกรณีผู้ให้เช่าซื้อได้รับความเสียหาย เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องไปฟ้องทางแพ่งต่อผู้เช่าซื้อหรือผู้ต้องหาให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป