วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับของกลาง

ความหมายและประเภทของกลาง
             ๑) ของกลาง คือ วัตถุใด ๆ หรือทรัพย์สิน ซึ่งตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าพนักงาน โดยอำนาจของกฎหมายหรือโดยหน้าที่ในทางราชการ และได้ยึดไว้เป็นของกลางเพื่อพิสูจน์ในทางคดี หรือเพื่อจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการ
             ๒) ของกลาง แบ่งออกเป็น  ๒  ประเภท คือ
                   -  ของกลางในคดีอาญา ได้แก่ ของกลางที่เกี่ยวข้องต้องจัดการทางคดีอาญา เช่น ของที่บุคคลมีไว้ หรือใช้เป็นความผิด หรือเป็นของที่ใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิด
                   -  ของกลางอย่างอื่น คือ ของกลางที่ไม่เข้าอยู่ในลักษณะของกลางในคดีอาญา เช่น ของที่เก็บตก หล่น หลุด ลอยไหลได้ เป็นต้น (ข้อบังคับการเก็บรักษาของกลางกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๘๐ ลักษณะ ๑ ข้อ ๔, ข้อ ๕)

ที่มาของกลางในคดีอาญา  
           ได้แก่  สิ่งของดังต่อไปนี้
            ๑.   สิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด เช่น ยาเสพติด  ปืนเถื่อน ธนบัตรปลอม เป็นต้น
            ๒.   สิ่งของซึ่งได้มาโดยผิดกฎหมาย เช่น ไม้เถื่อน แร่เถื่อน เป็นต้น
            ๓.   สิ่งของซึ่งได้ใช้ หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำผิด เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล  อาวุธ เป็นต้น
            ๔.   สิ่งของที่ใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด คือ สิ่งของที่เป็นวัตถุพยานต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้าที่ผู้ต้องหาสวมใส่ในขณะกระทำผิด หรือเสื้อผ้าผู้ต้องหาซึ่งเปื้อนเลือดของผู้ตาย หรือรถยนต์ซึ่งได้ดัดแปลงและใช้ซุกซ่อนยาเสพติด เป็นต้น  (ป.วิ.อ. ม.๑๓๒ (๒),(๓),(๔))

การรวบรวมของกลางประกอบคดี  
             พนักงานสอบสวนมีอำนาจดังนี้
             ๑. หมายเรียกบุคคล  ซึ่งครอบครองสิ่งของ ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ให้จัดส่งสิ่งของนั้นมาให้  พนักงานสอบสวน แต่หากว่าบุคคลที่ถูกหมายเรียกได้จัดส่งสิ่งของมาตามหมายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมาด้วยตนเอง ให้ถือเสมือนว่าได้ปฏิบัติตามหมาย หากไม่ปฏิบัติตามหมายแล้วก็อาจมีความผิดฐานขัดคำบังคับของพนักงานสอบสวน ตาม ป.อ. มาตรา ๑๖๙
             ๒.  ค้นเพื่อพบของกลางนั้น คือ
                      -  ขอออกหมายค้นในที่รโหฐาน แล้วจัดการค้นหาของกลางตามหมายนั้น หรือถ้าเป็นกรณีที่ขอค้น         ที่รโหฐานได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นก็จัดการให้เป็นไปตามนั้น (ป.วิ.อ. ม.๖๙, ๙๒ (๔))
                      -  ค้นที่สาธารณะ หรือค้นตัวบุคคลที่สงสัยในที่สาธารณะ (ป.วิ.อ. ม.๙๓)
                      -  ค้นตัวผู้ต้องหา และยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานไว้ประกอบคดี (ป.วิ.อ. ม.๑๓๒)
                      -  ในกรณีที่ค้นโดยไม่มีหมาย โดยเจ้าพนักงานอื่นซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวน ให้ส่งบันทึกการตรวจค้นบัญชี และสิ่งของไปยังพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ใดซึ่งต้องการสิ่งเหล่านั้น (ป.วิ.อ. มาตรา ๑๐๔ วรรคสอง)
             ๓. ขออายัดของกลางไว้ คือ แจ้งให้ผู้ครอบครองของกลางไว้ มิให้จำหน่ายจ่ายโอนของกลางนั้น และส่งมอบต่อพนักงานสอบสวน (ป.วิ.อ. ม.๑๓๑ (๔))
             ๔. ขอคำสั่งศาลถึงเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์โทรเลข ให้ส่งเอกสารของผู้ต้องหาที่อยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์และมิใช่เอกสารโต้ตอบระหว่างผู้ต้องหากับทนายความของตนมาให้พนักงานสอบสวน หากเห็นว่าเอกสารเหล่านั้นมีลักษณะเป็นของกลางในคดี (ป.วิ.อ. ม. ๑๐๕)
             ๕. รับมอบของกลางจากพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นมาประกอบคดี เช่น รับมอบของกลางจากเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือพนักงานป่าไม้ผู้จับกุมและยึดของกลางมาได้ (ป.วิ.อ. ม.๘)
            ๖.  พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด เพื่อใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน ๓ ปี หากต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด  เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบของร่างกายผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง  พนักงานสองสวนมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจได้ โดยใช้วิธีการเจ็บปวดน้อยที่สุด และผู้นั้นต้องให้ความยินยอม  (ป.วิ.อ. ม.๑๓๑/๑)
อำนาจในการยึดของกลางของพนักงานสอบสวน
            พนักงานสอบสวนมีอำนาจยึดของกลางไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วให้คืนแก่ผู้ต้องหา หรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น

หลักเกณฑ์ในการยึดของกลาง
            ๑. ของกลางบางชนิด เป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลมีกรรมสิทธิ์อยู่ การยึดเอาทรัพย์สินนั้นมา ย่อมเป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์สินนั้น จึงต้องระมัดระวังว่า ต้องมีเหตุผลสมควรตามกฎหมาย จึงจะยึดของกลางนั้นไว้ได้ มิฉะนั้น ผู้ยึดโดยมิชอบ อาจจะถูกฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญาได้
             ๒. ของกลางประเภทที่ยึดมาเพื่อจะริบเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งได้แก่ ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ เช่น ยาเสพติด ปืนเถื่อน นั้น เป็นสิ่งของที่บุคคลไม่อาจมีไว้ในความครอบครองได้ และต้องริบไว้เป็นของแผ่นดิน จึงชอบที่จะยึดได้เสมอ
             ๓. ของกลางประเภทที่ยึดมาเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีนั้น ควรใช้เป็นหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ประกอบการยึดด้วย คือ                                                                                                      
                     -  เป็นการยึดมาเพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีเท่านั้น ถ้าไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี หรือไม่เป็นประโยชน์แก่คดีก็ไม่ควรยึดไว้
                    -  มีเหตุสมควรที่จะยึดไว้ มิฉะนั้นอาจเสียหายแก่คดี
                    -  ของกลางบางอย่าง บุคคลอาจมีกรรมสิทธิ์ได้ เช่น ปืนมีทะเบียน ยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิด จึงต้องพิจารณาด้วยว่า เจ้าของทรัพย์สินอันแท้จริงมีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดด้วยหรือไม่ ถ้าเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด ก็จะต้องยึดถือหลักที่ว่า “ ยึดไว้เพื่อจะคืนให้เจ้าของ” ฉะนั้น ถ้าหมดความจำเป็นในคดีแล้ว ก็ควรเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อขออนุมัติคืนให้แก่เจ้าของ
             ๔. ของกลางที่มีข้อตกลงในการยึด หรือการเก็บรักษา ระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีพิเศษ ต้องถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อกฎหมาย แห่งความผิดนั้น ๆ โดยเคร่งครัด เช่น วิทยุเถื่อน แร่เถื่อน ไม้เถื่อน ยาเสพติด  เป็นต้น

ของกลางกับสำนวนการสอบสวน
             ๑. ยึดของกลางได้จากตัวบุคคลใด  เป็นของกลางอะไร  ให้ทำบันทึก  (บันทึกการตรวจค้น) ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ต้องบันทึกว่าก่อนลงมือค้นเพื่อพบของกลางนั้น  เจ้าพนักงานผู้ค้นได้แสดงความบริสุทธิ์ก่อนค้นได้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่ หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้นหรือต่อหน้าพยานอย่างน้อย  ๒  คน  (ป.วิ.อ. ม.๑๐๒ , ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๑๕ บทที่ ๑ ข้อ ๔๑๘)
             ๒. ของกลางที่ยึดได้ต้องให้ผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลในครอบครัวผู้ต้องหา ผู้แทนหรือพยานดู เพื่อให้รับรองว่าถูกต้อง ถ้าบุคคลดังกล่าวนั้นรับรองหรือไม่รับรองก็ให้บันทึกไว้
             ๓. การค้นของกลาง ผู้ค้นต้องบันทึกรายละเอียดของการค้นและทำบัญชีรายละเอียดสิ่งของที่ค้นได้ไว้ด้วย   บันทึกการค้นและบัญชีสิ่งของกลางนั้น ให้อ่านให้ผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลในครอบครัว ผู้ต้องหา จำเลย ผู้แทน หรือพยานฟังแล้วแต่กรณี และให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อรับรองไว้
             ๔. เมื่อนำของกลางไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน ให้จดรูปพรรณสิ่งของกลางลงในรายงานประจำวัน และสมุดยึดทรัพย์และของกลาง แล้วเขียนเลขกำกับที่ยึดทรัพย์ติดไว้กับสิ่งของนั้นให้มั่นคง อย่าให้หลุดหรือสูญหายได้ แล้วเก็บรักษาไว้ตามระเบียบ (ข้อบังคับการเก็บรักษาของกลาง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๘๐)
             ๕. ของกลางใดที่จะต้องส่งตรวจพิสูจน์ พึงดำเนินการให้ถูกต้องตามวิธีการหรือระเบียบในส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าจะส่งไปตรวจพิสูจน์ที่ กองพิสูจน์หลักฐานฯ ก็ควรปฏิบัติตามเอกสารคู่มือของกองพิสูจน์หลักฐาน  เรื่องคำแนะนำในการเก็บรักษาและจัดส่งเอกสารหรือวัตถุของกลางไปตรวจพิสูจน์ เป็นต้น
                    ของกลางที่จะส่งไปตรวจพิสูจน์ จะต้องให้ผู้ต้องหาลงชื่อกำกับหีบห่อและบันทึกไว้ด้วย เมื่อได้รับผลการตรวจพิสูจน์แล้วให้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบ ถ้าผู้ต้องหารับรองผลก็ให้สอบสวนเพิ่มเติมไว้ เพราะถ้าในชั้นพิจารณาผู้ต้องหายังรับรองผลการตรวจพิสูจน์ดังกล่าว ก็อาจจะไม่ต้องนำผู้ตรวจพิสูจน์มาเบิกความต่อศาลอีก
              ๖. ในชั้นสอบสวน ถ้ามีของกลางอย่างใด ๆ จะต้องจัดทำบัญชีของกลางประกอบสำนวนการสอบสวนไว้ (ป.วิ.อ. ม. ๑๓๙ วรรคสอง)  
                                                                                                
วิธีจัดทำบัญชีของกลางนั้น ให้ดำเนินการดังนี้
                        -  ในการลงรายละเอียดสิ่งของกลางในบัญชีนั้น ให้ตรวจสิ่งของให้ถูกต้องกับสมุดยึดทรัพย์ของกลาง รายงานประจำวัน และคำให้การ จำนวนห่อ จำนวนสิ่งของให้ถูกต้องตรงกันอย่าให้คลาดเคลื่อน ประการที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ควรมีการขีดฆ่าหรือแก้ไขเพิ่มเติมเพราะจะทำให้เกิดการสงสัย ถ้าจำเป็นก็ให้ขีดฆ่าและลงนามกำกับไว้ ห้ามขูดลบเป็นอันขาด
                        -  สิ่งของกลางอย่างอื่นอย่างใดที่ค้นได้จากผู้ต้องหาหรือบุคคลผู้ครอบครองสิ่งของนั้น ต้องให้ผู้ต้องหาหรือบุคคลนั้น ลงนามกำกับไว้ในบัญชีของกลางนั้นด้วย
                        -   เอกสารพยานที่ค้นได้ ให้พนักงานสอบสวนจดลงบัญชีของกลางเช่นเดียวกัน เว้นแต่ช่องราคาไม่ต้องใส่ ถ้ามีการคืนเอกสารหรือส่งเอกสารไปที่ใดให้หมายเหตุไว้ในช่องหมายนั้นด้วย (ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑๕ บทที่ ๕ ข้อ ๔๓๒)
                ๗. ในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ฉ้อโกงทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือรับของโจร ถ้าทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายมีหลายราคา และมีทั้งที่ได้คืนและไม่ได้คืน ให้เป็นดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน หากสามารถบันทึกไว้ในแบบพิมพ์บัญชีเดียวกัน (ใช้แบบพิมพ์ บัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย/ได้คืน/ไม่ได้คืน)  แต่ถ้าบันทึกรวมไว้ในแบบพิมพ์บัญชีเดียวกันไม่ได้ก็ให้แยกบันทึก เช่น กรณีได้ทรัพย์คืน ขณะสำนวนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาระดับ บก. บช. หรือ ตร. รวมทั้งในชั้นพนักงานอัยการ ให้ทำบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืน แยกจากบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย เป็นต้น ทั้งนี้ ให้ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย  พนักงานสอบสวน และผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ละรายการลงชื่อรับรองไว้ เพื่อประโยชน์ในการที่พนักงานอัยการจะใช้บรรยายฟ้องและขอเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายไปในคำฟ้องนั้น (ป.วิ.อ. ม. ๔๓ , หนังสือ คด.ตร.ที่ ๐๐๐๔.๖/๑๐๙๔๐ ลง ๓ ก.ย.๒๕๔๕ เรื่องแนวทางปฏิบัติในการทำสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม)

การคืนของกลางในคดีอาญา
            ๑. ต้องคืนให้แก่เจ้าของ ฉะนั้น สิ่งของที่ไม่อาจมีเจ้าของได้ เช่น ฝิ่นเถื่อน ปืนเถื่อน ฯลฯ ก็ไม่ต้องคืน
            ๒. ถ้ามีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์กันและตกลงกันไม่ได้ ให้ทำบันทึกและให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายลงชื่อไว้ แล้วแจ้งให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทราบ เพื่อไปยื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีนั้นต่อไป
            ๓. ต้องคืนของกลาง เมื่อเสร็จคดีหรือเมื่อหมดความจำเป็นที่ยึดไว้ต่อไป (อัยการนิเทศน์ พ.ศ.๒๔๙๕ หน้า ๒๐๕)