วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2565

หน้าที่การเก็บรักษาของกลาง

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการเก็บรักษาและการจำหน่ายของกลาง พ.ศ. 2565 
ลักษณะ 1  หน้าที่การเก็บรักษาของกลางและการมอบหมาย  (ข้อ 6 - ข้อ 11)

                ข้อ ๖  ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง แบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้ 
                (1) ระดับสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนในระดับกองกำกับการ ได้แก่ หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน 
                (2) ระดับกองบังคับการ ได้แก่ ผู้บังคับการ
                (3) ระดับกองบัญชาการ ได้แก่ ผู้บัญชาการ
                (4) ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

               ข้อ 7  ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง ต้องเก็บรักษาและดูแลของกลางที่ได้รับมอบไว้ในที่ปลอดภัย ไม่ให้เกิดการสูญหาย เสียหาย และต้องเก็บรักษาของกลางตามวิธีการที่ถูกต้องในของกลางแต่ละประเภท
                 หากผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง เห็นว่า เป็นการสมควรที่จะมอบหมายหน้าที่ในการเก็บรักษาของกลางแทน อาจมอบหมายหน้าที่ในการเก็บรักษาของกลาง ดังนี้
                (1) ระดับสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนในระดับกองกำกับการ ให้มอบหมายข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าร้อยตำรวจตรีขึ้นไป เว้นแต่ กรณีที่ไม่อาจหาผู้ที่มียศดังกล่าวได้ ให้ขออนุมัติต่อผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงานของตนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
                (2) ระดับกองบังคับการ ให้มอบหมายข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่พันตำรวจเอกขึ้นไป  
                (3) ระดับกองบัญชาการ ให้มอบหมายข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่พันตำรวจเอกขึ้นไป 
                (4) ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มอบหมายข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่พลตำรวจตรีขึ้นไป 

              ข้อ 8  ให้ผู้ที่มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้                    (1) ตรวจสอบสภาพของกลางและความถูกต้องก่อนที่จะเก็บรักษา
                (2) จัดทำบัญชีของกลางที่เก็บรักษาไว้ตามประเภทของกลาง ได้แก่ ของกลางในคดีอาญา และของกลางอย่างอื่น
                (3) จัดทำหลักฐานการรับและส่งมอบของการให้เรียบร้อย
                (4) ตรวจสอบสภาพของกลางและบันทึกรายงานผลการตรวจสอบให้ผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงานของตน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อทราบทุกระยะเวลา 6 เดือน 
                (5) จัดให้มีกุญแจหรือรหัสสถานที่เก็บรักษาของกลางให้มั่นคงแข็งแรง โดยมีผู้เก็บรักษากุญแจและรู้รหัส จำนวน ๓ คน คือ ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร และผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง
                (6) จัดให้มีสมุดควบคุมการเปิด-ปิด สถานที่เก็บรักษาของกลาง 
                (7) ส่งมอบของกลางแก่บุคคลที่ร้องขอ ตามที่กฎหมายหรือระเบียบให้อำนาจไว้
                (8) ดำเนินการอื่นใดเพื่อการเก็บรักษาของกลางตามที่เห็นสมควร

                ข้อ 9  ในการเปิดสถานที่เก็บรักษาของกลาง ให้กระทำโดยผู้เก็บรักษากุญแจและรู้รหัส จำนวน 2 ใน 3 

                ข้อ 10  เมื่อมีการแต่งตั้งให้ไปรับตำแหน่งที่อื่น ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางและผู้ที่จะมารับหน้าที่ใหม่ จะต้องส่งมอบของกลางแก่กันให้เสร็จก่อนการเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถเดินทางมารับมอบของกลางได้ภายในเวลากำหนด ให้มอบของกลางให้แก่ผู้รักษาราชการแทนรับไว้และให้ผู้มารับตำแหน่งใหม่รับมอบหมายของกลางจากผู้รักษาราชการแทนให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันเดินทางมารับตำแหน่งใหม่ 
                 หน้าที่ของผู้รับมอบ ต้องสำรวจสิ่งของให้ถูกต้อง ตรงกับรายการในบัญชี หากของกลางใดไม่ส่งมอบด้วยเหตุใด ให้หมายเหตุไว้ให้ชัดเจน แล้วลงชื่อกำกับไว้ทั้งผู้มอบและผู้รับมอบ และเมื่อรับมอบแล้วให้เสนอผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงานของตนทราบ หากมีการบกพร่องก็ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งดำเนินการสอบสวนต่อไป เมื่อผู้รับมอบได้ลงลายมือชื่อรับมอบของกลางแล้ว ถือว่าได้รับของกลางไว้ถูกต้องตามจำนวนที่ปรากฏในบัญชี และให้ผู้มอบของกลางพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบเท่าที่ปรากฏในบัญชีของกลางที่มีอยู่อย่างไม่บกพร่องในขณะที่รับมอบต่อกันเท่านั้น หากปรากฏว่าขาดตกบกพร่องในจำนวนสิ่งของขึ้นภายหลังผู้รับมอบจะต้องเป็นผู้รับผิด 

                ข้อ 11  ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่ปฏิบัติเกี่ยวข้องแก่ของกลางนั้นเหมือนดั่งเช่นวิญญูชนพึงรักษาดูแลทรัพย์สินของตนเอง และต้องรักษาของนั้น ๆ ไว้ในสถานที่ปรากฎตามระเบียบนี้ด้วยความระมัดระวัง และคอยตรวจตราอยู่เสมอให้ของกลางนั้นอยู่ตามสภาพเดิมเท่าที่จะรักษาไว้ได้ก่อนที่จะมีการส่งมอบต่อกัน

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง ในระดับสถานีตำรวจ คือ หัวหน้าสถานีตำรวจ และอาจมอบหมายให้ข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่ ร.ต.ต. หรือเทียบเท่าขึ้นไป ทำหน้าที่ในการเก็บรักษาของกลางแทน เพื่อดูแลรักษา จัดทำบัญชี รับ-มอบของกลาง ตลอดจนควบคุมการเปิด-ปิดสถานที่เก็บรักษาของกลาง)

ความหมาย ของกลาง

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ว่าด้วย การเก็บรักษาและการจำหน่ายของกลาง พ.ศ. 2565   (ข้อ 1 - ข้อ 5)

               ข้อ 1  ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการเก็บรักษาและการจำหน่ายของกลาง พ.ศ. 2565

               ข้อ 2  ระเบียบนี้ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

               ข้อ 3 ให้ยกเลิกประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 15 ของกลางและของส่วนตัวผู้ต้องหา ยกเว้น บทที่ 2  สิ่งของส่วนตัวผู้ต้องหา

               ข้อ 4  ในระเบียบนี้ 
                "ของกลาง"  หมายความว่า วัตถุใด ๆ หรือทรัพย์สินที่ตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าพนักงานโดยอำนาจแห่งกฎหมายหรือโดยหน้าที่ในทางราชการ และได้ยึดไว้เป็นของกลางเพื่อพิสูจน์ในทางคดีหรือเพื่อจัดการอย่างอื่นตามกฏหมาย 
                "ของกลางในคดีอาญา"  หมายความว่า ของกลางที่ต้องดำเนินการจัดการทางคดีอาญา เช่น ทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด ได้มาโดยความผิด ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด หรือที่ใช้เป็นหลักฐานในทางคดีอาญา 
                "ของกลางอย่างอื่น"  หมายความว่า ของกลางที่ไม่เข้าอยู่ในลักษณะของกลางในคดีอาญา
                "ทรัพย์สินหาย"  หมายความถึง ทรัพย์สินที่มีผู้หลงลืมทิ้งไว้หรือทำตกหล่นไว้ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง
                "รถ"  หมายความว่า รถตามกฏหมายว่าด้วยการจราจรทางบก กฏหมายว่าด้วยรถยนต์ กฏหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และตามที่ปรากฏในกฎหมายอื่น
                "การคืนของกลาง"  หมายความว่า การคืนของกลางเมื่อคดีเสร็จสิ้น และให้หมายความรวมถึง การนำไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ในชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล 
                "การจำหน่ายของกลาง"  หมายความว่า การจำหน่ายของกลางออกจากบัญชีไม่ว่าก่อนหรือหลังคดีถึงที่สุดโดยวิธีการทำลายขาย ขายทอดตลาด ขายคืนเจ้าของ ขายปันส่วน ส่งมอบส่วนราชการ ทำลายหรือวิธีการใด ตามที่ได้รับอนุมัติ
                "หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน"  หมายความถึง กลุ่มงานสอบสวนหรือกองกำกับการที่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1 - 9 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกลุ่มงานสอบสวนและตรวจสอบทรัพย์สินในสังกัดกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
               "หน่วยตรวจพิสูจน์ในสังกัดสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ" หมายความถึง กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10 และพิสูจน์หลักฐานจังหวัด 

               ข้อ 5  ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความวินิจฉัยปัญหาเพื่อดำเนินการตามระเบียบนี้ 
                คำวินิจฉัยของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ถือเป็นที่สุด

(ข้อคิดเห็น - คำว่า "ของกลาง" เป็นสิ่งของที่ถูกยึด ซึ่งมี 2 ประเภท คือ สิ่งของที่เกี่ยวข้องในคดีอาญา กับสิ่งของอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา ก็ได้ โดยให้มีการบันทึกสิ่งของเหล่านั้นไว้ในบัญชีของกลางด้วย)