วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การขอคืนสิ่งของที่ถูกยึดระหว่างสอบสวนและผู้มีสิทธิขอคืน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕/๑
 เพิ่มโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๐

         การยื่นคำร้องขอคืนสิ่งของในระหว่างสอบสวน 
                  -  สิ่งของที่เจ้าพนักงานได้ยึดไว้ ซึ่งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำ หรือมีไว้ เป็นความผิด ถ้ายังไม่ได้นำสืบ หรือแสดงเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี
                  -  เจ้าของ หรือผู้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้อง ขอคืนสิ่งของ ที่เจ้าพนักงานยึดไว้ อาจยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี
                  -  เพื่อขอรับสิ่งของนั้นไปดูแลรักษา หรือใช้ประโยชน์ โดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้

         เงื่อนไขและการสั่งคืนสิ่งของ
                  -  การสั่งคืนสิ่งของดังกล่าวข้างต้น จะต้องไม่กระทบถึงการใช้สิ่งของนั้นเป็นพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในภายหลัง
                  -  ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ  มีคำสั่งโดยมิชักช้า โดยอาจเรียกประกันจากผู้ยื่นคำร้อง  หรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้บุคคลนั้นปฏิบัติ และ
                  -  หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือ บุคคลดังกล่าวไม่ยอมคืนสิ่งของนั้น เมื่อมีคำสั่งให้คืน ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี มีอำนาจยึดสิ่งของนั้นกลับคืน และบังคับตามสัญญาประกัน เช่นว่านั้นได้
                   -  วิธีการยื่นคำร้อง เงื่อนไขและการอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

กรณีมีคำสั่งไม่อนุญาต หรือคำสั่งอนุญาต
                   -   ในกรณีที่พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ มีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลชั้นต้น ที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการไม่อนุญาต และให้ศาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์
                   -  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต ศาลอาจเรียกประกัน หรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด

(สรุป. – การขอคืนของกลางบางอย่างในระหว่างสอบสวนต้องมิใช่ทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด สามารถสั่งคืนได้โดยมีประกันและเงื่อนไข หากไม่อนุญาต ก็ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นได้)

                     สาระสำคัญ กฎกระทรวงกำหนดวิธีการ ขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ ไปดูแลรักษา หรือใช้ประโยชน์ พ.ศ.๒๕๕๓  (คลิกที่นี่)
                  -  บุคคลดังต่อไปนี้ มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ได้
                      (๑)  เจ้าของ หรือผู้มีกรรมสิทธิ์
                      (๒) ผู้ซึ่งมีสิทธิในการใช้ , ครอบครอง , ยึดหน่วง  หรือสิทธิเรียกร้องอื่นตามที่กฎหมายรับรอง  รวมถึง ผู้เช่าซื้อ , ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก หรือ ผู้จัดการมรดก
                  -  ผู้ยื่นคำร้องจะต้องแสดงหลักฐานแห่งการเป็นเจ้าของ  หรือเอกสารหรือหลักฐานใด ๆ เพื่อแสดงถึงสิทธิที่ตนมีอยู่เหนือสิ่งของนั้น
                  -  ในกรณีผู้ยื่นคำร้อง มีสิทธิในสิ่งของ ซึ่งมีเจ้าของกรรมสิทธิ์หลายรายรวมกัน จะต้องแสดงเอกสารหลักฐานแสดงความยินยอมในการร้องขอคืนสิ่งของ จากเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกราย

คำร้อง
                  ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
                  (๑)  สิ่งของ ที่ประสงค์จะขอคืน
                  (๒)  เหตุผล ความจำเป็น และความเร่งด่วน ที่ร้องขอคืนสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้
ประโยชน์
                  (๓)  ระยะเวลา ที่ประสงค์จะนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                  (๔)  ผู้ที่จะดูแลรักษา หรือใช้ประโยชน์จากสิ่งของ
                  (๕)  สถานที่ ที่นำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                  (๖)  หลักฐาน ในการแสดงสิทธิตามข้อ ๑
            ในการพิจารณาคำร้อง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี คำนึงถึงเหตุ
ดังต่อไปนี้
                 (๑)  เหตุผล ความจำเป็น และความเร่งด่วนที่ต้องนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                 (๒)  ความเสี่ยงภัย หรือเสี่ยงต่อความเสียหาย สูญหาย ถูกทำลาย ปลอม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง ที่อาจเกิดกับสิ่งของที่จะนำไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                 (๓)  ความน่าเชื่อถือ ของหลักประกัน
                 (๔)  ความน่าเชื่อถือ ของผู้ที่จะนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                 (๕)  ระยะเวลา ที่จะนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                 (๖)  คำคัดค้าน ของผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามข้อ ๑ วรรคหนึ่ง คำคัดค้านของผู้ต้องหา หรือคำคัดค้านของผู้เสียหาย
                 (๗)  พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดี

ผู้ยื่นคำร้องหลายรายต่างอ้างสิทธิในสิ่งของเดียว
               -  ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องหลายรายขอคืนสิ่งของอย่างเดียวกัน โดยอ้างสิทธิต่างกัน
               -  ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี มีอำนาจกำหนดให้ผู้ยื่นคำร้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควร เพื่อพิสูจน์สิทธิของตนก่อนมีคำสั่ง
               -  เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ยื่นคำร้องรายใดเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิเหนือสิ่งของดีกว่าผู้อื่น ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี มีคำสั่งคืนสิ่งของแก่ผู้นั้น