วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การคืนของกลางที่ร้านทองรับซื้อไว้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               "มาตรา ๑๓๓๒  บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่ เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา"
              "มาตรา ๑๓๓๖  ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย"

              ข้อพิจารณา : ผู้ซื้อของในท้องตลาด  ฯ
              -  ผู้ซื้อต้องซื้อจากการขายทอดตลาด ซื้อในท้องตลาด หรือซื้อจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น เท่านั้น  กล่าวคือ
                 “การขายทอดตลาด” หมายถึง การขายทรัพย์สินที่กระทําโดยเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไป ด้วยวิธีเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสู้ราคากัน ผู้ใดให้ราคาสูงสุดและผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยเคาะไม้ หรือด้วยกิริยาอย่างอื่นตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด ผู้นั้นเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้น
                 “ท้องตลาด” หมายถึง  ตลาดทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นที่ชุมนุมเพื่อซื้อขายของต่าง ๆ
                 “พ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น” คือ ผู้ขายได้ขายของอย่างที่ซื้อมานั้นเป็นอาจิณ
              -  ผู้ซื้อต้องสุจริต เช่น ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด ต้องมีพฤติการณ์เชื่อโดยสุจริตว่า ผู้ขายเป็นเจ้าของที่แท้จริง ราคาที่ซื้อขายเป็นราคาในท้องตลาด หรือมีหนังสือได้รับอนุญาตให้รับซื้อของเก่า เป็นต้น
             -  ผู้ซื้อยังไม่ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยสมบูรณ์ แต่มีสิทธิยึดเอาไว้จนกว่าเจ้าของจะมาขอชดใช้ราคาคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  907/2490
ป.พ.พ. มาตรา 1332
ป.วิ.พ. มาตรา 84
             โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อสายพานไว้จากพ่อค้าในท้องตลาดด้วยความสุจริต จำเลยพาตำรวจมายึดไปจากโจทก์ โดยอ้างว่า เป็นสายพานของจำเลยซึ่งถูกผู้ร้ายลักไป แล้วจำเลยได้รับสายพานนั้นคืนไปจากตำรวจ จึงขอให้จำเลยคืนสายพานหรือใช้ราคา 2,035 บาท ให้แก่โจทก์
             ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า "ท้องตลาด" ในบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 หมายความถึง ที่ชุมนุมแห่งการค้า เมื่อโจทก์อ้างว่าซื้อจากท้องตลาด โจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบ แต่ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่า ร้านที่โจทก์ซื้อสายพานมาอยู่ในท้องตลาด โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ซื้อมา  พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  706/2492
ป.พ.พ. มาตรา 1332
             จำเลยที่ 2 ตั้งร้านขายของชำ และมีอาชีพทางรับเครื่องทองรูปพรรณที่ทำด้วยเงิน ทอง นาค จากร้านขายของเช่นนั้นไปจำหน่ายหากำไรบ้าง ขายเครื่องรูปพรรณของตนเองบ้าง จำเลยที่ 2 ปฏิบัติการค้าเช่นนี้เป็นอาจิณตลอดมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 2 เคยติดต่อรับของจากร้านจำเลยที่ 1 ไปจำหน่าย
            ดังนี้ ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นพ่อค้าขายทองรูปพรรณตามความหมายในมาตรา 1332 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 นำเข็มขัดนาคจากร้านของจำเลยที่ 1 มาขายให้โจทก์ และโจทก์รับซื้อไว้โดยสุจริต โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การคืนธนบัตรของกลางคดียาเสพติด

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 8/2555
พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 (การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ)
             ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานสอบสวน ได้รับมอบธนบัตรที่ยึดมา เนื่องจากสงสัยว่าจะได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า จำนวน 1,314 ฉบับ รวมเป็นเงินจำนวน 453,490 บาท และได้ส่งไปตรวจพิสูจน์
             ระหว่างรอผลการตรวจพิสูจน์ ผู้ฟ้องคดีได้คืนธนบัตรให้แก่ผู้ที่ถูกยึดธนบัตรไป
             ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ทราบผลการตรวจพิสูจน์ธนบัตรดังกล่าวจากกองกำกับการวิทยาการเขต ๙ จังหวัดนครสวรรค์ ว่ามีคราบยาเสพติดให้โทษติดอยู่ที่ธนบัตรทุกฉบับ กรณีจึงควรมีเหตุสงสัยว่าธนบัตรที่ตรวจยึดได้อาจเป็นทรัพย์ที่นาย ท. ได้มาโดยการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งหากผู้ใดโอน รับโอน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว ผู้นั้นย่อมเป็นผู้กระทำผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
             ดังนั้น ธนบัตรที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดจากบ้านพักของนาย ท. และได้ตรวจพิสูจน์พบว่ามีคราบยาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้าติดอยู่ที่ธนบัตรดังกล่าวทุกฉบับนั้น เป็นพยานหลักฐานสำคัญเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในภายหลัง ซึ่งอาจใช้พิสูจน์การได้มาของธนบัตร และคราบยาเสพติดที่ตรวจพิสูจน์พบบนธนบัตรดังกล่าว และนำไปสู่กระบวนการในการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ต่อไป
            แต่ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือและได้เก็บหนังสือฉบับดังกล่าวรวมไว้ในแฟ้มคดี โดยมิได้แจ้งหรือมิได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชา หรือรายงานตามแบบท้ายระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประสานงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 พ.ศ.2544 แต่อย่างใด
            การที่ผู้ฟ้องคดีคืนธนบัตรดังกล่าวให้แก่นาย ท. และภรรยาไปย่อมกระทบถึงการใช้ธนบัตรดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในภายหลัง และมีผลทำให้นาย ท. และภรรยาได้รับประโยชน์จากการกระทำดังกล่าวของผู้ฟ้องคดี กรณีถือได้ว่า เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535
            ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รถบรรทุกของกลางถูกลักเอาไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7975/2549
 ป.พ.พ. มาตรา 420
               โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกข้าวสารจำนวน 200 กระสอบ เพื่อส่งมอบให้แก่ลูกค้า แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมและยึดรถบรรทุกคันดังกล่าวพร้อมข้าวสารทั้งหมด โดยมีผ้าใบคลุมอยู่ เนื่องจากรถบรรทุกคันดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบรถบรรทุกคันดังกล่าว คนขับรถบรรทุกคันดังกล่าวได้หลบหนีไป จึงส่งมอบรถบรรทุกพร้อมข้าวสารดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นร้อยเวรในขณะนั้น ในสังกัดและในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ดูแลรักษาทรัพย์และดำเนินการตามกฎหมาย ต่อมา รถบรรทุกของโจทก์และข้าวสารทั้งหมดซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 อันมีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ของกลางได้สูญหายไป
              รถบรรทุกและข้าวสาร 200 กระสอบบนรถบรรทุกของโจทก์ถูกยึดไว้เป็นของกลางในการดำเนินคดีอาญาโดยจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ดูแลรักษารถบรรทุกและข้าวสารของกลางไว้ระหว่างสอบสวนโดยต้องใช้ความระมัดระวังดูแลรถบรรทุกและข้าวสารเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตนเอง เฉพาะอย่างยิ่งมีข้าวสารบรรจุกระสอบถึง 200 กระสอบมูลค่าหลายแสนบาทบรรทุกอยู่บนรถจะต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นมิให้สูญหายหรือได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 3 นำรถบรรทุกไปจอดไว้ข้างถนนห่างจากสถานีตำรวจประมาณ 25 ถึง 50 เมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่กำหนดไว้เป็นสถานที่จอด เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าไปจอดในรั้วของสถานีตำรวจได้ เป็นเพียงการนำรถบรรทุกไปจอดไว้เท่านั้น มิใช่เป็นการดูแลรักษาทรัพย์สิน แม้จะได้เก็บกุญแจรถไว้ แล้วเอาโซ่และกุญแจล็อกระหว่างพวงมาลัยกับคลัตซ์และได้ตรวจดูบ่อย ๆ ก็ตาม แต่การจอดรถบรรทุกไว้ข้างถนนโดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควรย่อมเปิดโอกาสให้คนร้ายลักรถบรรทุกและข้าวสารไปได้โดยง่าย จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลรถบรรทุกและข้าวสารเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองเป็นเหตุให้รถบรรทุกและข้าวสารสูญหายไป ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3