วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

การคืนของกลางเมื่อคดีถึงที่สุด

ลักษณะ 4
การคืนของกลางเมื่อคดีถึงที่สุด

              ข้อ 43  ภายใต้บทบัญญัติตามมาตรา 1327 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การคืนของกลาง ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
              (1)  ของกลางในคดีอาญาที่ทราบตัวผู้มีสิทธิจะได้รับของคืน เมื่อผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางได้แจ้งหรือประกาศให้ทราบ แต่ผู้นั้นยังไม่มารับของคืนไปเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่แจ้งหรือประกาศให้ทราบให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้หมายเหตุไว้ในบัญชีแล้วจัดการต่อไปดั่งเช่นของกลางที่ต้องริบ
              (2)  ของกลางในคดีอาญาที่ไม่ทราบตัวผู้มีสิทธิจะได้รับของคืน ให้ประกาศหาเจ้าของภายใน 5 ปี นับแต่วันประกาศ ไม่ได้ตัวผู้มีสิทธิมารับของนั้น ก็ให้ริบเป็นของแผ่นดินและให้จัดการทำนองเดียวกัน
              อนึ่ง ถ้าปรากฏตัวผู้มีสิทธิจะได้รับของคืนในระหว่างเวลาประกาศและผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางได้แจ้งให้ทราบแล้ว แต่ผู้นั้นยังไม่มารับของคืนไป เช่นนี้ การที่จะตกเป็นของแผ่นดินให้ถือกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ผู้มีสิทธิได้ทราบ ถ้ากำหนดเวลา 5 ปี ที่ประกาศไว้จะถึงกำหนดเวลาที่เร็วกว่า ก็ให้ถือกำหนดเวลาที่เร็วกว่านั้น 
              (3)  ของกลางอย่างอื่นที่ปรากฏตัวผู้มีสิทธิจะได้รับตามกฏหมายแล้ว แต่ผู้นั้นยังไม่มารับของไป ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 10 ปี หรือสังหาริมทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นมีสิทธิจะได้รับของไปจากผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง ก็ให้ตกเป็นของแผ่นดิน และจัดการทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้ ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางแจ้งหรือประกาศให้ผู้นั้นมารับของคืนเสีย
              (4)  การแจ้งหรือประกาศของผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางไม่จำเป็นจะต้องฟังว่า ผู้มีสิทธิควรจะได้รับ ไม่ได้ทราบข้อความที่แจ้งหรือประกาศให้ผู้นั้นได้รับของคืน แต่ถ้าภายในกำหนดเวลาที่กล่าวนั้นผู้มีสิทธิควรได้รับ ได้แสดงความประสงค์ที่จะรับของคืน แต่มีเหตุขัดข้องมารับของนั้นไปไม่ได้ ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางพิจารณา ถ้าเห็นเป็นความจำเป็นจะผ่อนผันให้เวลาแก่ผู้นั้นต่อไปอีกตามสมควรก็ได้
                    ถ้าผู้มีสิทธิควรได้รับของกลางนั้นแสดงความจำนงว่าไม่ต้องการรับของคืนและขอมอบให้แก่แผ่นดิน ดังนี้ ให้ผู้มีหน้าที่จัดการบันทึกให้ผู้นั้นลงนามไว้เป็นหลักฐานในรายงานประจำวันและในบัญชีของกลางให้เรียบร้อย แล้วจัดการจำหน่ายของกลางนั้นต่อไปตามระเบียบ

               ข้อ 44  ของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดไว้ระหว่างที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ให้ถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยกำหนดวิธีการขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ และแนวทางตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด

                ข้อ 45  ของกลางที่พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายใช้ดุลพินิจในการสั่งคืนของกลางให้กับเจ้าของหรือผู้มีสิทธิขอรับคืนตามมาตรา 85 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้พิจารณาสั่งคืนเป็นหลัก เว้นแต่มีเหตุความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยึดไว้เพื่อเป็นหลักฐานหรือประกอบการพิจารณาคดีหรือพิสูจน์ความผิดต่อไป

                ข้อ 46  ของกลางที่พนักงานอัยการขอให้ศาลสั่งริบ ให้ดำเนินการ ดังนี้ 
                (1)  ในระหว่างดำเนินคดี ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเกี่ยวกับของกลาง ให้พนักงานสอบสวนถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยกำหนดวิธีการขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ และแนวทางตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด    
                       หากมีผู้มายื่นคำร้องขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งหรือแนะนำผู้ร้องให้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการ เมื่อพนักงานอัยการสั่งการเกี่ยวกับสิ่งของเป็นอย่างไรก็ให้ปฏิบัติตามนั้น แต่การทำสัญญาประกันในชั้นพนักงานอัยการให้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ
                (2)  เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับของกลาง
                       ก.  กรณีศาลสั่งริบของกลางให้หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน หรือผู้รักษาการแทน ดำเนินการขายทอดตลาดตามระเบียบ
                       ข.  กรณีศาลไม่สั่งริบ ให้หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน หรือผู้รักษาการแทน จัดการตามมาตรา 85 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
                (3)  หากศาลมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับของกลาง ก็ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางติดต่อกับพนักงานอัยการ เพื่อขอคำสั่งศาลเกี่ยวกับของกลางนั้น หากศาลไม่ได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินการด้วยประการใด ก็ให้พิจารณาดำเนินการไปตามความเหมาะสมได้

                *ป.พ.พ. มาตรา 1327  ภายในบังคับแห่งกฎหมายอาชญา กรรมสิทธิ์แห่งสิ่งใด ๆ ซึ่งได้ใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำผิดโดยประการอื่นและส่งไว้ในความรักษาของกรมในรัฐบาลนั้น ท่านว่าตกเป็นของแผ่นดิน  ถ้าเจ้าของมิได้เรียกเอาภายในหนึ่งปี นับแต่วันส่ง หรือถ้าได้ฟ้องคดีอาชญาต่อศาลแล้ว นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่ถ้าไม่ทราบตัวเจ้าของ ท่านให้ผ่อนเวลาออกไปเป็นห้าปี
                  ถ้าทรัพย์สินเป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สินนั้นไซร้ ท่านว่ากรมในรัฐบาลจะจัดให้เอาออกขายทอดตลาดก่อนถึงกำหนดก็ได้ แต่ก่อนที่จะขายให้จัดการตามควรเพื่อบันทึกรายการอันเป็นเครื่องให้บุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นอาจทราบว่า เป็นทรัพย์สินของตนและพิสูจน์สิทธิได้ เมื่อขายแล้วได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ถือไว้แทนตัวทรัพย์สิน

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป ถ้าเป็นของกลางคดีอาญา ได้แจ้งหรือประกาศให้ผู้ที่มีสิทธิมารับคืนของกลางแล้ว แต่ไม่มารับคืน เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี ก็ให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิ เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี ก็ให้ริบเป็นของแผ่นดิน แต่ถ้าเป็นของกลางอย่างอื่น เช่น เป็นอสังหาริมทรัพย์ ให้มีกำหนดเวลา 10 ปี หรือ เป็นสังหาริมทรัพย์ ให้มีกำหนดเวลา 5 ปี เมื่อผู้มีสิทธิรู้แล้วแต่ไม่มารับคืนภายในกำหนด ก็ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนการผ่อนผันเวลานั้นให้พิจารณาตามความจำเป็น แต่ถ้าผู้มีสิทธิต้องการมอบให้เป็นของแผ่นดิน ก็ให้บันทึกและจำหน่ายไปตามระเบียบ ส่วนของกลางที่ยึดระหว่างการสอบสวน ก็ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฯ และแนวทางตามที่ ตร. กำหนด กรณีที่พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนคืน ก็ให้หัวหน้าสถานีใช้ดุลยพินิจพิจารณาสั่งคืน ส่วนของกลางที่พนักงานอัยการขอให้ศาลสั่งริบ ระหว่างนั้นถ้าศาลยังไม่มีคำสั่ง ก็ให้ผู้ร้องขอไปยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการ ในการทำสัญญาประกันสิ่งของก็ย่อมเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ ถ้าศาลไม่สั่งริบ ก็ให้จัดการตาม ป.วิ.อ.มาตรา 85 ถ้าศาลไม่สั่งเกี่ยวกับของกลาง ก็ให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับของกลางติดต่อพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม)