วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

การเก็บรักษาของกลางคดีป่าไม้ ยาเสพติด และแร่

การเก็บรักษาของกลางที่มีระเบียบหรือข้อตกลงในการเก็บรักษาเป็นพิเศษ

ของกลางในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ
               ๑.  เมื่อมีคดีความผิดตามกฎหมายป่าไม้ ให้พนักงานสอบสวนทำการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีให้เสร็จโดยเร็ว สำหรับไม้ของกลางที่ตรวจยึดได้ ให้กรมป่าไม้เป็นผู้ดูแลรักษาตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์                                                                            
               ๒. ในกรณีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด และไม่มีผู้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในไม้ของกลาง ถ้าเป็นไม้สัก ไม้ยาง ในราชอาณาจักร ให้พนักงานสอบสวนส่งคืนไม้ของกลางให้กรมป่าไม้รับไปทันที ถ้าเป็นไม้หวงห้ามอื่นให้ประกาศโฆษณาหาเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ ๓๐ วัน ถ้าไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดต่อสู้กรรมสิทธิ์และป่าไม้จังหวัดนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือยืนยันรับรองว่าไม้ของกลางถูกตัดฟันมาจากป่าในราชอาณาจักรไทย ให้พนักงานสอบสวนคืนไม้ของกลางให้แก่กรมป่าไม้รับไปในทันที เว้นแต่ในกรณีที่พนักงานสอบสวนเห็นว่า จำเป็นจะต้องรักษาไม้ของกลางบางท่อนหรือบางส่วนไว้เพื่อประโยชน์แก่คดีต่อไป ก็อาจขอให้กรมป่าไม้รักษาไว้ก่อนก็ได้ และถ้าผู้กระทำผิดไม่ต่อสู้กรรมสิทธิ์และไม้นั้นเป็นไม้ที่เสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของของกลางนั้น ให้พนักงานป่าไม้ผู้รับผิดชอบร่วมกับพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ  ทำบันทึกรายละเอียดบัญชีไม้ของกลาง ตลอดจนร่องรอยหลักฐานต่าง ๆ แล้วขออนุมัติอธิบดีกรมป่าไม้นำออกขายทอดตลาดก่อนถึงกำหนด แล้วเก็บเงินไว้แทนก็ได้  (ป. เกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑๕ บทที่ ๗ แก้ไขโดยระเบียบ ตร. (ฉบับที่ ๒) ลง ๑๒ ต.ค.๒๕๓๒)
                ๓. ของกลางคดีป่าไม้ทุกคดี เมื่อทำการจับกุมได้ ชั้นต้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำบันทึกนำมอบให้เจ้าพนักงานป่าไม้ในท้องที่เป็นผู้เก็บรักษาไว้ หากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ก็ให้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับไปเก็บรักษาของกลางไว้แทน
                      คำว่า  “ของกลางในคดีป่าไม้”  นอกจากไม้และของป่าผิดกฎหมายแล้ว ยังรวมถึงบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล  ซึ่งใช้หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา ๖๔ ทวิ ด้วย
                      สิ่งของกลางในคดีป่าไม้นั้น บางคดีก็เป็นไม้ท่อนจำนวนมากมาย ยากที่จะเก็บรักษาไว้ในบริเวณสถานีตำรวจได้ และบางคดีก็เป็นยานพาหนะของบุคคลอื่นซึ่งไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด การยึดไว้ อาจเสี่ยงต่อความรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา จึงมีมติของคณะกรรมการป้องกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำบันทึกขอมอบของกลางในคดีป่าไม้ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในท้องที่เป็นผู้เก็บรักษา เว้นแต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ปฏิเสธ จึงให้พนักงานสอบสวนพยายามดำเนินการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นผู้เก็บรักษาของกลางอย่างอื่นนอกจากไม้ไว้ด้วย (หนังสือ ตร.ที่ ๐๖๐๓๓/๑๐๙๒๕ ลง ๗ ก.ย.๒๕๒๗  เรื่องการเก็บรักษาของกลางในคดีความผิดตามกฎหมายป่าไม้)

ยาเสพติดให้โทษของกลาง
            อ้างถึง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา , พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ , พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ และ พ.ร.ก.ป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓  ระเบียบได้แก่ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจับ ยึดและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๗ และระเบียบกระทรวงสารธารณสุขว่าด้วย การเก็บรักษายาเสพติดให้โทษของกลาง พ.ศ. ๒๕๔๑  ทั้งนี้ โดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
              ๑. การตรวจรับของกลางยาเสพติด
                   (๑) พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป นำของกลางมาส่งยังสถานตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พร้อมแสดงบัตรประจำตัว เว้นแต่ยาเสพติดให้โทษ ประเภท ๑ หรือ ๒ ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า ๒๐ กรัม และฝิ่น น้อยกว่า ๕๐๐ กรัม , ยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ น้อยกว่า ๑ กิโลกรัม , วัตถุออกฤทธิ์ น้อยกว่า ๕ กรัม หรือน้อยกว่า ๒๐๐ เม็ด , สารระเหย น้อยกว่า ๑ กิโลกรัม , ยาเสพติดให้โทษประเภท ๔ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ส่งมอบ หรือจะส่งกับการสื่อสารแห่งประเทศไทยในจดหมายไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนได้  (ปัจจุบันมีมติที่ประชุมงานสืบสวนสอบสวนและกฎหมาย ครั้งที่ ๓/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม  ๒๕๕๐ ณ ห้องประชุม ๒ ชั้น ๒ อาคาร ๑ ตร.ว่า การรับ-ส่ง ของกลางตรวจพิสูจน์ทางไปรษณีย์ไปกองพิสูจน์หลักฐานไม่อาจกระทำได้ )
                   (๒) ของกลางที่นำมาส่ง ต้องบรรจุในภาชนะที่เรียบร้อย แข็งแรง ปิดผนึก ปิดทับด้วยแบบ ป.ป.ส.๖-๓๑
                   (๓) คณะกรรมการตรวจรับ ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่า ๒ คน ในกรณีที่จำเป็น ผู้ตรวจพิสูจน์หนึ่งคน อาจดำเนินการตรวจรับร่วมกับเจ้าหน้าที่อื่นที่เป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือข้าราชการตั้งแต่ระดับ ๓ ขึ้นไป
                   (๔) การตรวจสอบของกลาง ตรวจสอบต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้นำส่ง แล้วบันทึกรายละเอียดต่าง ๆทั้งหมด ในใบตรวจรับของกลางยาเสพติด พร้อมทั้งลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

            ๒. การเก็บรักษาของกลาง
                  อนึ่ง ยาเสพติดให้โทษของกลางที่ได้ตรวจพิสูจน์แล้วว่า เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ ๑ หรือประเภทที่ ๒ สถานตรวจพิสูจน์จะนำของกลางส่วนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ มาส่งมอบเพื่อเก็บรักษาที่กระทรวงสาธารณสุข (ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๗) จากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะเป็นผู้รับมอบและเก็บรักษาไว้ที่คลังยาเสพติดให้โทษของกลางและจำนวนยาเสพติดให้โทษของกลางเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
                  “ยาเสพติดให้โทษของกลาง” หมายความว่า ยาเสพติดให้โทษที่มีผู้ส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุข หรือที่ศาลสั่งยึดหรือยึดไว้ แล้วตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
                     (๑) ให้มีคณะกรรมการระดับจังหวัด รับผิดชอบเกี่ยวกับยาเสพติดของกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัด มีองค์ประกอบตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับจังหวัดเป็นกรรมการ โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดมีอำนาจหน้าเกี่ยวกับ
                        - รับผิดชอบในการเก็บรักษายาเสพติดให้โทษของกลางอยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัด
                        - พิจารณาหรือรับผิดชอบการทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง
                        - แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานตามความจำเป็น
                        - พิจารณาหรือดำเนินการอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย
                      (๒) ยาเสพติดให้โทษของกลางในระดับจังหวัด ให้เก็บรักษาไว้ที่คลังเก็บรักษายาเสพติดให้โทษของกลาง  ณ สถานที่ที่คณะกรรมการระดับจังหวัดกำหนด
                      (๓) ยาเสพติดให้โทษของกลางที่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ หรือในประเภท ๕  เมื่อได้มีการตรวจพิสูจน์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติดแล้ว ให้หน่วยงานที่เก็บรักษา สำนักงาน ป.ป.ส. คณะกรรมการอาหารและยา หรือจังหวัดพิจารณาทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้
                      (๔) ในระดับจังหวัด ยาเสพติดให้โทษของกลางที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ หรือจำหน่ายได้ ให้คณะกรรมการระดับจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง โดยระบุวิธีทำลายไว้อย่างชัดแจ้ง การทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเก็บรักษายาเสพติดให้โทษของกลาง ดำเนินการทำลายตามระเบียบนี้อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง หรือตามที่คณะกรรมการระดับจังหวัดมอบหมาย
                      (๕) ในระดับจังหวัด ให้คณะกรรมการระดับจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบในการทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางในประเภทที่ ๔ หรือประเภทที่ ๕  โดยแต่งตั้งคณะทำงานยาเสพติดให้โทษของกลาง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่า ๕ คน เป็นคณะทำงาน ทั้งนี้ให้มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส.ร่วมเป็นคณะทำงาน โดยให้คณะทำงานดังกล่าวตรวจสอบชนิด และปริมาณของยาเสพติดให้โทษของกลาง  บันทึกไว้เป็นหลักฐาน แล้วดำเนินการทำลายจนแล้วเสร็จ
                      (๖) ในการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติดของกลางนั้น ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ ยาเสพติด  พ.ศ.๒๕๓๗ (ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการเก็บรักษายาเสพติดให้โทษของกลาง พ.ศ.๒๕๔๑ และระเบียบ สร. ว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด  พ.ศ.๒๕๓๗)

ของกลางในคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่
                      (๑) ของกลางที่ยึดได้ให้ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เป็นผู้ดูแล และเก็บรักษาตามระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรม
                      (๒) ในการจับกุมผู้กระทำผิดที่มีของกลางในเขตทรัพยากรธรณีใด ให้เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งให้ทรัพยากรธรณีท้องที่ทราบโดยด่วน และให้ทรัพยากรธรณีท้องที่รีบไปรับมอบของกลางโดยพลัน และนำของกลางมาเก็บรักษาไว้  ค่ารักษาในการขนย้ายและเก็บรักษานั้น ให้กรมทรัพยากรธรณีเป็นผู้ออก
                      (๓) ในคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด และไม่มีผู้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในของกลางนั้น ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบปิดประกาศโฆษณาหาเจ้าของ ๓๐ วัน  เมื่อพ้นกำหนดแล้ว และไม่มีผู้ใดต่อสู้กรรมสิทธิ์ ก็ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ทรัพยากรธรณีผู้เก็บรักษาของกลางทราบ เพื่อดำเนินการตามระเบียบต่อไป  ของกลางที่ยึดได้หากได้ตัวผู้กระทำผิดและผู้นั้นไม่ต่อสู้กรรมสิทธิ์ ถ้าเป็นของประเภทเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้ จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของกลางนั้น ให้ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนั้น  ทำบันทึกรายละเอียดบัญชีของกลาง และร่องรอยหลักฐานต่าง ๆ ไว้ เสนอขออนุมัติอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี  เพื่อนำของกลางออกขายทอดตลาดก่อนถึงกำหนดได้ แล้วยึดเงินไว้แทน (ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑๕ บทที่ ๖)