ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
"มาตรา ๑๓๓๒ บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่ เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา""มาตรา ๑๓๓๖ ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย"
ข้อพิจารณา : ผู้ซื้อของในท้องตลาด ฯ
- ผู้ซื้อต้องซื้อจากการขายทอดตลาด ซื้อในท้องตลาด หรือซื้อจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น เท่านั้น กล่าวคือ
“การขายทอดตลาด” หมายถึง การขายทรัพย์สินที่กระทําโดยเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไป ด้วยวิธีเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสู้ราคากัน ผู้ใดให้ราคาสูงสุดและผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยเคาะไม้ หรือด้วยกิริยาอย่างอื่นตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด ผู้นั้นเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้น
“ท้องตลาด” หมายถึง ตลาดทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นที่ชุมนุมเพื่อซื้อขายของต่าง ๆ
“พ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น” คือ ผู้ขายได้ขายของอย่างที่ซื้อมานั้นเป็นอาจิณ
- ผู้ซื้อต้องสุจริต เช่น ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด ต้องมีพฤติการณ์เชื่อโดยสุจริตว่า ผู้ขายเป็นเจ้าของที่แท้จริง ราคาที่ซื้อขายเป็นราคาในท้องตลาด หรือมีหนังสือได้รับอนุญาตให้รับซื้อของเก่า เป็นต้น
- ผู้ซื้อยังไม่ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยสมบูรณ์ แต่มีสิทธิยึดเอาไว้จนกว่าเจ้าของจะมาขอชดใช้ราคาคืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 907/2490
ป.พ.พ. มาตรา 1332
ป.วิ.พ. มาตรา 84
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อสายพานไว้จากพ่อค้าในท้องตลาดด้วยความสุจริต จำเลยพาตำรวจมายึดไปจากโจทก์ โดยอ้างว่า เป็นสายพานของจำเลยซึ่งถูกผู้ร้ายลักไป แล้วจำเลยได้รับสายพานนั้นคืนไปจากตำรวจ จึงขอให้จำเลยคืนสายพานหรือใช้ราคา 2,035 บาท ให้แก่โจทก์
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า "ท้องตลาด" ในบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 หมายความถึง ที่ชุมนุมแห่งการค้า เมื่อโจทก์อ้างว่าซื้อจากท้องตลาด โจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบ แต่ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่า ร้านที่โจทก์ซื้อสายพานมาอยู่ในท้องตลาด โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ซื้อมา พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 706/2492
ป.พ.พ. มาตรา 1332
จำเลยที่ 2 ตั้งร้านขายของชำ และมีอาชีพทางรับเครื่องทองรูปพรรณที่ทำด้วยเงิน ทอง นาค จากร้านขายของเช่นนั้นไปจำหน่ายหากำไรบ้าง ขายเครื่องรูปพรรณของตนเองบ้าง จำเลยที่ 2 ปฏิบัติการค้าเช่นนี้เป็นอาจิณตลอดมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 2 เคยติดต่อรับของจากร้านจำเลยที่ 1 ไปจำหน่าย
ดังนี้ ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นพ่อค้าขายทองรูปพรรณตามความหมายในมาตรา 1332 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 นำเข็มขัดนาคจากร้านของจำเลยที่ 1 มาขายให้โจทก์ และโจทก์รับซื้อไว้โดยสุจริต โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2507
ป.พ.พ. มาตรา 572, 1332
ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แต่กลับได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้นายเส็งเช่าไป จำเลยที่ 2 จึงยังคงเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาท
โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อทรัพย์สินจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นโดยสุจริต และได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว ทรัพย์สินนั้นย่อมตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า ในทำนองเดียวกันกับผู้ให้เช่าได้ขายทรัพย์นั้นให้แก่ผู้เช่า จึงถือได้ว่าผู้เช่าซื้อเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น
แต่ตามความในมาตรา 1332 มิได้บัญญัติให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ หากแต่ให้มีสิทธิชนิดหนึ่งเท่านั้น คือ ให้มีสิทธิที่จะยึดทรัพย์นั้นไว้ได้และไม่ต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบทะเบียนและให้จัดการใส่ชื่อโจทก์ในทะเบียน เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เสนอขอชดใช้ราคาตามหน้าที่ของตน ศาลไม่อาจบังคับเรียกคืนทรัพย์สินนั้นจากโจทก์ได้
พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่ 2 ที่จะเรียกทรัพย์รายนี้คืนตามสิทธิของตนต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2495
ป.พ.พ. มาตรา 99, 1332
สลากกินแบ่งของรัฐบาลจัดว่า เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งซึ่งซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ ผู้ใดถือสลากย่อมถือว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของ เว้นแต่จะมีเหตุแสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นมีไว้โดยไม่สุจริต
ซื้อสลากกินแบ่งของรัฐบาลจากผู้มีอาชีพทางค้าขายสลากกินแบ่งโดยสุจริต ไม่ทราบว่า เป็นสลากของผู้อื่นที่รับไปจำหน่ายแล้วสูญหายไป โดยเจ้าของได้แจ้งความและอายัดกับสำนักงานสลากกินแบ่งไว้แล้ว ดังนี้ พออนุโลมเข้าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิได้รับรางวัล เมื่อสลากถูกรางวัลได้
ความเห็นของผู้บันทึก.-
กรณีปัญหา เจ้าของร้านทองรับซื้อทองคำจากคนร้ายในคดีอาญา โดยเจ้าของร้านทองได้รับอนุญาตให้รับซื้อของเก่าและมีการจดบันทึกบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กระทำผิดเอาไว้ เป็นการแสดงเจตนาสุจริต เมื่อเจ้าของร้านทองซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริต โดยไม่ทราบว่าทรัพย์ได้มาจากการกระทำผิด ย่อมไม่เป็นความผิดอาญาฐานรับของโจร
หากแต่เจ้าของร้านทองไม่ได้ซื้อจากการขายทอดตลาด หรือซื้อจากผู้ขายในตลาดทั่วไปซึ่งเป็นที่ชุมนุมเพื่อซื้อขายของต่าง ๆ และไม่ได้เป็นซื้อจากพ่อค้าผู้ขายของชนิดนั้นเป็นอาจิณ เพียงแต่เป็นการรับซื้อจากผู้ขายซึ่งนำมาขายให้แก่ร้านทองที่ตั้งอยู่ในท้องตลาด
ดังนี้ เจ้าของทรัพย์ที่ถูกคนร้ายเอาทรัพย์ไป ย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์ของตนได้ เจ้าของร้านจำต้องคืนทองคำที่ซื้อมานั้นให้แก่เจ้าของที่แท้จริง โดยไม่อาจเรียกให้เจ้าของทรัพย์ที่ขอรับคืนชดใช้ราคาที่ซื้อมาได้ แต่เจ้าของร้านจะต้องเรียกเอาจากคนร้ายให้ชดใช้ราคาทรัพย์นั้นคืน
หมายเหตุ.- กรณีข้างต้นอาจจะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องนี้โดยตรง เพียงแต่ผู้เขียนอาศัยแนวคำพิพากษาฎีกาในคดีอื่นที่มีอยู่เดิมมาเทียบเคียง แต่ถ้าเห็นว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ ผู้ที่ถูกโต้แย้งกรรมสิทธิ์ย่อมสามารถนำความไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อหาข้อยุติต่อไป
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
- หนังสือ คค.ที่ ๐๐๑๑.๒๕/๒๕๘๘ ลง ๒๓ พ.ย.๒๕๕๘
(Update : 15/01/2016)