วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ของกลางอย่างอื่น

หมวด 2  ของกลางอย่างอื่น 

ส่วนที่ 1  ทรัพย์สินที่ยึดไว้ตรวจสอบ 

                ข้อ 20  ทรัพย์สินใดที่ตามกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เพื่อทำการตรวจสอบตามกฎหมายได้ ให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจยึด ทำบันทึกการตรวจยึดพร้อมบัญชีสิ่งของที่ตรวจยึด โดยให้ผู้ตรวจยึดและเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครอง ลงลายมือชื่อในบันทึกการตรวจยึดและบัญชีสิ่งของด้วย แล้วให้นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย และให้พนักงานสอบสวนลงสมุดยึดทรัพย์ของกลางประเภทอื่น เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฏหมายแล้ว หากไม่ปรากฏว่าเป็นความผิดตามกฏหมาย ก็ให้คืนแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครอง หากปรากฏว่าเป็นความผิดตามกฎหมายก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
                แต่หากทรัพย์สินที่ยึดไว้เพื่อตรวจสอบนั้นเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะทำการตรวจยึด แต่เจ้าพนักงานอื่นได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฏหมายทำการตรวจยึดแล้วส่งมอบให้แก่พนักงานสอบสวนให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฏหมายระเบียบหรือข้อตกลงและให้ลงสมุดยึดทรัพย์ของกลางประเภทอื่นไว้เป็นหลักฐานด้วย

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป กรณีเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานอื่นตรวจยึดไว้เพื่อตรวจสอบ ให้จัดทำบันทึกและทำบัญชีสิ่งของ พร้อมลงลายมือชื่อผู้ตรวจยึดกับเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ส่งให้พนักงานสอบสวนลงสมุดยึดทรัพย์ ทำการตรวจสอบ จากนั้น คืนให้เจ้าของ หรือให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย แล้วแต่กรณี)

ส่วนที่ 2  ทรัพย์สินหาย

                ข้อ 21  วิธีปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินหายที่มีผู้เก็บได้ ให้ถือปฏิบัติดังนี้ 
                (1)  สถานีตำรวจท้องที่ใดที่มีผู้เก็บทรัพย์สินหายได้ มอบให้สถานีตำรวจแห่งนั้นรับไว้ ให้ลงรายงานเบ็ดเสร็จประจำวัน สมุดยึดทรัพย์สินของกลาง ให้ปรากฏรายละเอียดชื่อและที่อยู่ของผู้เก็บทรัพย์สินหายได้ ตลอดจนลักษณะตำหนิรูปพรรณทรัพย์สินและสถานที่ที่เก็บได้โดยชัดเจนแล้วบันทึกถ้อยคำผู้เก็บให้ทราบถึงการได้ของนั้นมาโดยละเอียด แล้วสำเนาเอกสารดังกล่าวพร้อมกับส่งของกลางนั้นไปให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร ภายในกำหนด 7 วัน เพื่อสืบหาหรือออกประกาศสืบหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ได้รับต่อไป   
                (2)  ให้สอบสวนผู้เก็บทรัพย์สินหายได้ ทุกรายให้ชัดเจนว่า จะต้องการรับรางวัลหรือไม่ เมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่เก็บได้แล้วหากไม่ปรากฏว่ามีเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์มารับของคืน ผู้เก็บจะขอรับของนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ หรือจะยกให้เป็นสิทธิ์แก่ทางราชการ หากผู้นั้นมีความประสงค์อย่างไรให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานและแสดงไว้ในหลักฐานตาม (1) เพื่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรได้รับทราบไว้ด้วย และให้แนะนำแก่ผู้เก็บได้ด้วยว่า หากย้ายที่อยู่ในระหว่าง 1 ปี นับแต่วันที่เก็บได้ ให้แจ้งหน้าสถานีตำรวจที่เก็บได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับแจ้งไว้เดิม ถ้ามิสามารถจะทำได้ ก็ให้แจ้ง ณ สถานีตำรวจที่สามารถจะแจ้งได้เพื่อจะได้ติดต่อให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้เก็บทรัพย์สินหายได้เอง ในการที่จะติดต่อรับรางวัลหรือขอรับทรัพย์สินหายที่เก็บได้นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของตน  
                (3)  ทรัพย์สินที่ต้องส่งไปเก็บยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรตามที่กล่าวมาแล้วใน (1) หากเป็นสิ่งของที่ใหญ่โตหรือมีน้ำหนักมาก ไม่สะดวกแก่การขนส่งและการเคลื่อนย้ายหรือจะเป็นการสิ้นเปลืองเงินค่าขนส่งเกินสมควร เช่น เครื่องยนต์ เรือ แพ ซุง เป็นต้น ให้สถานีตำรวจนั้นเก็บรักษาไว้เอง   
                      ส่วนปศุสัตว์หรือสัตว์พาหนะ สำหรับเขตกรุงเทพมหานคร ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือเทียบเท่าหรือผู้รักษาราชการแทนแล้วแต่กรณี พิจารณา ถ้ามีเหตุจำเป็น ให้ส่งไปยังกองกำกับการตำรวจม้า หรือศูนย์ฝึกอบรมกองบัญชาการตำรวจนครบาล เลี้ยงรักษาไว้ 
                      ในส่วนจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือเทียบเท่าหรือผู้รักษาราชการแทนแล้วแต่กรณี พิจารณาประสานสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรืออำเภอ เลี้ยงรักษาไว้ หากหน่วยงานดังกล่าวไม่รับเลี้ยงรักษาไว้ให้ ก็ให้มอบหมายให้ผู้อื่นเลี้ยงรักษาไว้แทน หรือถ้ามีเหตุจำเป็นก็ให้สถานีตำรวจนั้นเลี้ยงรักษาไว้เอง ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงรักษา ให้เบิกจ่ายตามกฏหมายหรือตามระเบียบของทางราชการ
                (4)  ให้สถานีตำรวจที่ได้รับทรัพย์สินหายจากผู้ที่เก็บได้ ประกาศสืบหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ได้รับติดไว้โดยเปิดเผยที่สถานีตำรวจให้ประชาชนเห็นได้อย่างชัดเจน และให้ประกาศสืบหาเจ้าของ หรือผู้มีสิทธิ์ได้รับทางวิทยุในเครือข่ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยอีกช่องทางหนึ่ง 
                (5)  ถ้ามีผู้มาแจ้งว่าทรัพย์สินหาย ไม่ว่าจะเป็นการหลงลืมทิ้งไว้หรือทำตกหล่น ให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจที่ได้รับแจ้งความ ลงรายงานประจำวันและบันทึกถ้อยคำผู้แจ้งโดยให้ปรากฏชื่อที่อยู่สถานที่หลงลืมหรือตกหล่นที่ใด อย่างไร และรูปพรรณของทรัพย์สินนั้นโดยละเอียด กับจัดทำหนังสือให้ผู้แจ้งนำไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อตรวจสอบดูว่าได้มีผู้เก็บได้และนำส่งมอบไว้หรือไม่ ในกรณีที่มีผู้เก็บได้และนำมาส่งมอบไว้ เมื่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรตรวจสอบหลักฐานแล้วเชื่อแน่ว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของที่แท้จริงพิจารณาอนุญาตให้รับคืนไปได้ โดยให้หมายเหตุไว้ในบัญชี และให้ผู้นั้นลงชื่อรับสิ่งของไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งให้สถานีตำรวจที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นมา จัดการจำหน่ายในบัญชีทรัพย์ของกลางนั้นด้วย 
                       ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ยังไม่ได้ส่งกองทะเบียนประวัติอาชญากรและยังเก็บรักษาอยู่ที่สถานีตำรวจนั้น ในเมื่อผู้เป็นเจ้าของมาขอรับคืน ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้รักษาการแทนแล้วแต่กรณี ตรวจสอบหลักฐานและพิจารณาอนุญาตให้รับคืนไปได้ โดยให้หมายเหตุไว้ในบัญชีและให้ผู้นั้นลงชื่อรับสิ่งของไว้เป็นหลักฐาน แล้วแจ้งให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบ เพื่อประโยชน์ในการตอบคำถามและรวบรวมสถิติต่อไป 
                (6)  ทรัพย์สินหายที่มีผู้เก็บได้ แล้วไม่นำส่งมอบไว้ต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนด เมื่อเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น ให้สถานีตำรวจที่ดำเนินการเรื่องนั้นเก็บรักษาของกลางที่เก็บได้นั้นไว้ก่อน จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยให้ปฏิบัติตาม (1) ด้วย และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วให้ดำเนินการตามคำพิพากษา ถ้ายังไม่มีผู้มาขอรับของคืนไป ให้นำทรัพย์สินนั้นส่งกองทะเบียนประวัติอาชญากรตาม (1)  
                (7)  ทรัพย์สินหายที่มีผู้เก็บได้และส่งมาเก็บรักษาไว้ยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรแล้ว หากปรากฏในภายหลังว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของกลางในคดีอาญาแล้ว ให้สถานีตำรวจที่ดำเนินคดีขอรับไปเก็บรักษาไว้ตามระเบียบเกี่ยวกับของกลางในคดีอาญา 
                (8)  เมื่อครบกำหนด 1 ปี แล้ว หากเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์หรือผู้เก็บได้ไม่มาขอรับของคืนไป ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นเจ้าหน้าที่จัดการขายทอดตลาด แล้วนำเงินส่งกองการเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อผลประโยชน์ของทางราชการต่อไป 
                       หากกองทะเบียนประวัติอาชญากรหรือหน่วยงานราชการอื่นที่ได้รับทรัพย์สินหายและมีผู้เก็บได้ พิจารณาแล้วเห็นว่าทรัพย์สินสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือเพื่อประโยชน์ทางอื่นแล้ว ให้เสนอขออนุมัติถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งการเป็นเฉพาะ 
                       การดำเนินการตามข้อนี้ ในจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพมหานคร หน้าที่ใดซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของกองทะเบียนประวัติอาชญากรให้ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10 เป็นผู้ดำเนินการแทนและติดต่อประสานงานกับกองทะเบียนประวัติอาชญากรด้วย

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป กรณีเก็บทรัพย์ได้ให้นำไปมอบที่สถานีตำรวจ ลงรายงานประจำวันมีรายละเอียดชื่อและที่อยู่ของผู้ที่เก็บได้ สอบปากคำ แล้วส่งทรัพย์ไปกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อสืบหาเจ้าของ และให้สถานีตำรวจประกาศสืบหาเจ้าของด้วยเช่นกัน เมื่อครบ 1 ปี ไม่มีเจ้าของมารับ ก็ยกให้ผู้เก็บได้ หรือยกให้แก่ทางราชการ ตามความประสงค์ของผู้นั้น แต่ถ้าทรัพย์มีขนาดใหญ่โตก็ให้สถานีตำรวจเก็บรักษาไว้เอง ถ้าเป็นสัตว์ก็ให้ส่งไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสถานีตำรวจเลี้ยงไว้เอง ส่วนผู้ที่มาแจ้งว่าทำทรัพย์หาย ให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำโดยละเอียดแล้วทำหนังสือให้ผู้แจ้งนำไปขอตรวจสอบทรัพย์ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร ถ้าเป็นเจ้าของจริงก็รับคืนไปได้ แล้วจำหน่ายออกจากบัญชีทรัพย์ของกลาง เว้นแต่ทรัพย์ที่เก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจก็ให้หัวหน้าสถานีตำรวจพิจารณาอนุญาตให้รับคืนไปได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นของกลางในคดีอาญาก็ให้สถานีตำรวจเก็บรักษาไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในกรณีที่เก็บไว้ครบ 1 ปี แต่ไม่มีเจ้าของและผู้เก็บไว้มาของรับคืนไป ให้เป็นหน้าที่ของกองทะเบียนประวัติอาชญากร หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10 แล้วแต่กรณี จัดการขายทอดตลาดแล้วนำเงินส่งกองการเงิน เว้นแต่ทรัพย์ที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนราชการ ให้เสนอขออนุมัติถึง ตร. สั่งการเป็นเฉพาะ)