วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

การปฏิบัติเกี่ยวกับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง

การปฏิบัติเกี่ยวกับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง 
ตามคำสั่ง ตร.ที่ ๕๒๓/๒๕๕๗ ลง ๒๙ ก.ย.๒๕๕๗

          ๑. การส่งไปตรวจพิสูจน์
               ๑.๑ หน่วยงานที่ตรวจพิสูจน์
                      (๑) สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ตรวจเฉพาะอาวุธปืนที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องต่ำกว่า ๔๐ มม. และเครื่องกระสุนปืนที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า ๔๐ มม. โดยมีวัตถุประสงค์การตรวจพิสูจน์ ดังนี้
                           - ของกลางใช้ยิงมาแล้วหรือไม่
                           - ของกลาง เป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่
                          - ของกลาง เป็นชนิดใด ขนาดใด
                          - ของกลาง เป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้หรือไม่
                          - ของกลาง ใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้หรือไม่
                          - อาวุธปืนของกลาง มีรอยขูดลบแก้ไขเครื่องหมายทะเบียนและเลขหมายประจำปืนหรือไม่
                          - ตรวจเปรียบเทียบลูกกระสุนปืน/ปลอกกระสุนปืน ที่ได้จากที่เกิดเหตุกับปืนต้องสงสัย
                      (๒) กองสรรพาวุธ มีหน้าที่ตรวจพิสูจน์ อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนอกเหนือจากข้อ (๑)
              ๑.๒ ระยะเวลาการตรวจพิสูจน์ และการดำเนินการตรวจพิสูจน์
                   พนักงานสอบสวน จะต้องส่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางตรวจพิสูจน์ที่หน่วยตรวจพิสูจน์โดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน ๓ วันทำการ นับแต่ได้รับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง
                   สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ หรือกองสรรพาวุธ ตรวจพิสูจน์ของกลางให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่ได้รับ หากมีเหตุผลความจำเป็นไม่สามารถตรวจพิสูจน์ให้แล้วเสร็จ ให้ผู้ตรวจพิสูจน์ประสานแจ้งพนักงานสอบสวนเป็นกรณี ๆ ไป
                   พนักงานสอบสวน ต้องไปรับผลการตรวจพิสูจน์พร้อมของกลางกลับไปจากหน่วยตรวจพิสูจน์ ภายใน ๗ วัน นับจากวันที่ครบกำหนด ๓๐ วันดังกล่าว หรือวันที่ได้รับแจ้งจากผู้ตรวจพิสูจน์ว่าผลการตรวจพิสูจน์แล้วเสร็จ

           ๒. การเก็บรักษาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง
                 ๒.๑  นอกจากของกลางที่จะต้องคืนให้แก่ผู้มีสิทธิเรียกร้องคืนตามกฎหมาย ให้เก็บรักษาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ที่สถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน หรือกรณีที่ต้องส่งให้กองสรรพาวุธตาม ๒.๒
                      ระหว่างเก็บรักษา ให้หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาของกลางตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนและดำเนินการกับของกลางตาม ๒.๒ โดยดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ ๓๐ กันยายน ของทุกปี
                 ๒.๒  การส่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางให้กองสรรพาวุธเก็บรักษา ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
                        -  ต้องเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบเป็นของแผ่นดิน หรือ
                        -  ต้องเป็นของกลางในคดีอาญาที่ตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมาย
                        -  กรณีไม่ปรากฎว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด หรือรู้ตัวผู้กระทำผิดแต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้ ให้ส่งของกลางให้กองสรรพาวุธ เมื่อพ้นอายุความคดีอาญา ยกเว้นกรณี ดังนี้
                        -  กรณีไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดรวมทั้งของกลางเป็นยุทธภัณฑ์ ถ้าในขณะยึดไม่ปรากฏว่าผู้ใดสั่งเข้ามา ผู้นำเข้ามา ผู้ผลิตหรือผู้มี และไม่มีผู้ใดมาแสดงตนเป็นผู้สั่งเข้ามา ผู้นำเข้ามา ผู้ผลิตหรือผู้มี เพื่อขอรับคืนภายใน ๖๐ วัน นับแต่ยึดไว้ซึ่งตกเป็นของรัฐตามมาตรา ๓๕ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.๒๕๓๐ ให้ส่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางให้กองสรรพาวุธ เมื่อของกลางนั้นตกเป็นของรัฐ

          ๓. การดำเนินการกับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง
               เมื่อกองสรรพาวุธได้รับของกลางที่ส่งให้เก็บรักษาแล้วให้ปฏิบัติดังนี้
                ๓.๑  ถ้าเป็นยุทธภัณฑ์ ให้ส่งให้กระทรวงกลาโหมเพื่อจัดการตามที่เห็นสมควรตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.๒๕๓๐ มาตรา ๓๗
                ๓.๒  ถ้าไม่ใช่ยุทธภัณฑ์ ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจแยกประเภทเพื่อดูว่าอาวุธปืนกระบอกใดยังมีสภาพดีอยู่และมีมาตรฐานตรงกับความต้องการตามที่ทางราชการกำหนดไว้ ให้ขึ้นทะเบียนไว้ใช้ในราชการ หากอาวุธปืนกระบอกใดชำรุดจนถึงขนาดซ่อมแซมไม่ได้ หรือใช้การไม่ได้ ให้ทำลายหรือถอดปรนเอาชิ้นส่วนที่ใช้การได้ ไว้ใช้ในราชการ ให้ขออนุมัติต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

          ๔. การตรวจสอบ
                ๔.๑  ให้ผู้บังคับการที่รับผิดชอบ สภ. หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน ควบคุม กำกับดูแล ให้พนักงานสอบสวนและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามคำสั่งนี้โดยเคร่งครัด
                ๔.๒  ให้สำนักงานจเรตำรวจตรวจสอบการปฏิบัติของหน่วยที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามคำสั่งนี้โดยเคร่งครัด หากพบว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติ ให้รายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาข้อบกพร่องตามความเหมาะสม.