การยึดและการคืนรถยนต์ของกลางในคดี พ.ร.บ.จราจรทางบก
อ้างถึง ข้อบังคับการเก็บรักษาของกลาง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๘๐ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๐๔ , ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๑๕ บทที่ ๑ และ ๙ ลักษณะที่ ๑๘ บทที่ ๓ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๒๔ ลง ๔ มีนาคม ๒๕๒๔) , บันทึกกองคดี กรมตำรวจ ที่ ๐๕๐๓/๒๑๙๒๓ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๓ เรื่อง หลักเกณฑ์การคืนรถยนต์ของกลางตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ และ บันทึกกองคดี กรมตำรวจ ที่ ๐๖๐๖.๖/๑๕๓๒๐ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ เรื่อง การคืนรถยนต์ของกลางตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒เพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามข้อบังคับและประมวลระเบียบการดังกล่าวข้างต้น จึงวางหลักปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลาง ดังต่อไปนี้
ความหมาย
คำว่า “รถ” หมายถึง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถพ่วง รถบดถนน รถแทรกเตอร์ รถใช้งานเกษตรกรรม รถจักรยาน เกวียน รถลาก รถจ้าง ( ป.ระเบียบเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๑๕ บทที่ ๙ ข้อ ๑ )
คำว่า “รถของกลาง” หมายถึง รถซึ่งตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่โดยอำนาจแห่งกฎหมาย หรือ โดยหน้าที่ในราชการและยึดไว้เพื่อพิสูจน์ในทางคดี หรือจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) รถของกลางในคดีอาญา คือ รถของกลางที่เกี่ยวข้องต้องจัดการทางคดีอาญา เช่น รถที่ต้องเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด เป็นต้น
(๒) รถของกลางอย่างอื่น คือ รถของกลางที่ไม่เข้าอยู่ในลักษณะรถของกลางในคดีอาญา เช่น รถที่ตกอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่โดยหน้าที่ในราชการ เพื่อจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการ เป็นต้น
(ข้อบังคับการเก็บรักษาของกลาง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๘๐ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๐๔ ข้อ ๔.๕ และ ป.ระเบียบเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๑๕ บทที่ ๑ ข้อ ๔๑๓ และบทที่ ๙ ข้อ ๒)
แนวทางในการปฏิบัติ
โดยปกติทั่วไปแล้ว รถจะตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นรถของกลางได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการทำการยึดมาไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี หรือเพื่อจัดการตามหน้าที่ราชการ ดังนั้นจึงอาจแบ่งการยึดรถของกลางของเจ้าหน้าที่ตำรวจออกเป็น กรณีต่าง ๆ ดังนี้ คือ
กรณีที่ ๑ การตรวจยึดไว้เพื่อการจัดการตามหน้าที่ราชการไม่เกี่ยวกับคดีอาญา
กรณีที่ ๒ การตรวจยึดไว้เพื่อเป็นรถของกลางในคดีอาญา
กรณีที่ ๓ การตรวจยึดไว้เพื่อเป็นรถของกลางในคดีจราจร
การปฏิบัติต่อรถของกลางที่ทำการตรวจยึดไว้
กรณีที่ ๑
การตรวจยึดไว้เพื่อการจัดการตามหน้าที่ราชการไม่เกี่ยวกับคดีอาญา ให้ปฏิบัติ ดังนี้
๑. กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถของกลางไว้แล้ว ให้ผู้ยึดนำรถส่งพนักงานสอบสวนโดยด่วน และให้พนักงานสอบสวนประกาศหาเจ้าของ หรือผู้มีสิทธิ์เพื่อมาขอรับรถคืนต่อไป๒. เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับรถของกลางไว้แล้ว ให้ลงบันทึกในรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับรถของกลาง อันจะเป็นเหตุให้เจ้าของ หรือผู้มีสิทธิ์ จะรับรถของกลางคืนนั้น ทราบว่าเป็นรถของกลาง
๓. พนักงานสอบสวนต้องทำการตรวจสอบหลักฐานหรือส่งรถของกลางไปตรวจพิสูจน์ยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทะเบียนประวัติอาชญากรรม ศปร. กรมการขนส่งทางบก กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร บริษัทตัวแทนจำหน่าย เป็นต้นโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะต้องดำเนินการดังกล่าวนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลา ๓ เดือน นับแต่วันที่ยึดรถ หากไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนดให้เสนอขออนุมัติ ขยายเวลาต่อผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดเพื่อพิจารณาสั่งการ (สำหรับในกรณีจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพฯ ผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด )