ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
"มาตรา ๑๓๓๒ บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่ เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา""มาตรา ๑๓๓๖ ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย"
ข้อพิจารณา : ผู้ซื้อของในท้องตลาด ฯ
- ผู้ซื้อต้องซื้อจากการขายทอดตลาด ซื้อในท้องตลาด หรือซื้อจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น เท่านั้น กล่าวคือ
“การขายทอดตลาด” หมายถึง การขายทรัพย์สินที่กระทําโดยเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไป ด้วยวิธีเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสู้ราคากัน ผู้ใดให้ราคาสูงสุดและผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยเคาะไม้ หรือด้วยกิริยาอย่างอื่นตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด ผู้นั้นเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้น
“ท้องตลาด” หมายถึง ตลาดทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นที่ชุมนุมเพื่อซื้อขายของต่าง ๆ
“พ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น” คือ ผู้ขายได้ขายของอย่างที่ซื้อมานั้นเป็นอาจิณ
- ผู้ซื้อต้องสุจริต เช่น ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด ต้องมีพฤติการณ์เชื่อโดยสุจริตว่า ผู้ขายเป็นเจ้าของที่แท้จริง ราคาที่ซื้อขายเป็นราคาในท้องตลาด หรือมีหนังสือได้รับอนุญาตให้รับซื้อของเก่า เป็นต้น
- ผู้ซื้อยังไม่ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยสมบูรณ์ แต่มีสิทธิยึดเอาไว้จนกว่าเจ้าของจะมาขอชดใช้ราคาคืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 907/2490
ป.พ.พ. มาตรา 1332
ป.วิ.พ. มาตรา 84
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อสายพานไว้จากพ่อค้าในท้องตลาดด้วยความสุจริต จำเลยพาตำรวจมายึดไปจากโจทก์ โดยอ้างว่า เป็นสายพานของจำเลยซึ่งถูกผู้ร้ายลักไป แล้วจำเลยได้รับสายพานนั้นคืนไปจากตำรวจ จึงขอให้จำเลยคืนสายพานหรือใช้ราคา 2,035 บาท ให้แก่โจทก์
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า "ท้องตลาด" ในบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 หมายความถึง ที่ชุมนุมแห่งการค้า เมื่อโจทก์อ้างว่าซื้อจากท้องตลาด โจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบ แต่ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่า ร้านที่โจทก์ซื้อสายพานมาอยู่ในท้องตลาด โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ซื้อมา พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 706/2492
ป.พ.พ. มาตรา 1332
จำเลยที่ 2 ตั้งร้านขายของชำ และมีอาชีพทางรับเครื่องทองรูปพรรณที่ทำด้วยเงิน ทอง นาค จากร้านขายของเช่นนั้นไปจำหน่ายหากำไรบ้าง ขายเครื่องรูปพรรณของตนเองบ้าง จำเลยที่ 2 ปฏิบัติการค้าเช่นนี้เป็นอาจิณตลอดมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 2 เคยติดต่อรับของจากร้านจำเลยที่ 1 ไปจำหน่าย
ดังนี้ ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นพ่อค้าขายทองรูปพรรณตามความหมายในมาตรา 1332 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 นำเข็มขัดนาคจากร้านของจำเลยที่ 1 มาขายให้โจทก์ และโจทก์รับซื้อไว้โดยสุจริต โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้