วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สัญญาประกันสิ่งของและการส่งคืน

กฎกระทรวงกำหนดวิธีการขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษา 
หรือใช้ประโยชน์ พ.ศ.๒๕๕๓
-----------------------

รายละเอียดในสัญญาประกัน
            สัญญาประกันคืนสิ่งของ  อย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับ
                   -  ผู้ยื่นคำร้อง
                   -  ระยะเวลา และสถานที่ ที่อนุญาตให้นำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                   -  ข้อความยินยอมชดใช้เงินตามจำนวน หรือ
                   -  อัตราที่กำหนดในกรณีที่สิ่งของนั้นชำรุดบกพร่อง หรือมิอาจส่งคืนได้ และ
                   -  ประกัน หรือหลักประกัน สำหรับในกรณีที่เป็นสัญญาประกัน

การเรียกประกัน
            การเรียกประกัน หรือหลักประกัน และการกำหนดเงื่อนไข จะต้องมีความเหมาะสมกับ
                   -  ความสำคัญของพยานหลักฐานในคดี และ
                   -  มูลค่าของสิ่งของ
                   -  โดยไม่สร้างภาระแก่ผู้ยื่นคำร้องจนเกินควรแก่กรณี
            การกำหนดมูลค่าของสิ่งของ เพื่อการเรียกประกันหรือหลักประกัน ให้คำนึงถึง
                   -  ราคาประเมินของทางราชการ หรือ
                   -  มูลค่า หรือราคาตามท้องตลาด ของสิ่งของลักษณะเดียวกันนั้น
            ในกรณีที่มูลค่าของหลักประกันลดลงหรือต่ำไป ให้แจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาต
                   -  หาหลักประกันมาเพิ่มให้ครบมูลค่าเดิมในขณะทำสัญญาประกัน หรือ
                   -  ให้ดีกว่าเดิม หรือ
                   -  เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นได้

หลักทรัพย์
            หลักทรัพย์ดังต่อไปนี้ ให้ใช้เป็นหลักประกันได้
                   (๑)  เงินสด
                   (๒)  ที่ดินมีโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
                   (๓)  ที่ดินมีโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์และสิ่งปลูกสร้าง
                   (๔)  ห้องชุดมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์
                   (๕)  พันธบัตรรัฐบาลไทย
                   (๖)  หุ้นหรือหุ้นกู้ที่ออกโดยนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
                   (๗)  หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอน เช่น
                          -  สลากออมสิน
                          -  บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสิน ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
                          -  ใบรับเงินฝากประจำธนาคาร
                          -  ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว
                          -  ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว
                          -  เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายและรับรอง ซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ ในวันที่ทำสัญญาประกัน
                          -  หนังสือรับรองของธนาคาร หรือบริษัทประกันภัยเพื่อชำระเบี้ยปรับแทน กรณีผิดสัญญาประกัน
                          -  หรือ หลักทรัพย์อื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
                    หลักทรัพย์ที่ดินและห้องชุด ให้นำ
                    -  โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด และ
                    -  หนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดินมาแสดง
                    -  หากนำสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินมาเป็นหลักประกันด้วย ต้องแสดงสำเนาทะเบียนบ้าน และหนังสือประเมินราคาสิ่งปลูกสร้าง ที่น่าเชื่อถือประกอบด้วย

บุคคลเป็นประกัน
              ๑. กรณีมีบุคคลเป็นประกัน บุคคลผู้เป็นประกันต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
                   (๑)  เป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน เช่น
                          -  ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ
                          -  สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น พนักงานส่วนท้องถิ่น
                          -  พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานของรัฐประเภทอื่น ๆ
                          -  ลูกจ้างของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
                          -  ผู้บริหารพรรคการเมือง หรือ
                          -  ทนายความ และ
                  (๒)  เป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ยื่นคำร้อง เช่น
                          -  ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติพี่น้อง
                          -  ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง
                          -  บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส หรือ
                          -  บุคคลที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้อง หรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เห็นสมควรให้ประกันได้
              ๒. กรณีมีบุคคลเป็นประกัน ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                   (๑)  ให้บุคคลผู้เป็นประกัน เสนอหนังสือรับรองจากต้นสังกัด หรือนายจ้าง หรือหลักฐานอื่น
ที่เชื่อถือได้ และหากบุคคลผู้เป็นประกันมีคู่สมรส ให้แสดงหลักฐานการยินยอมของคู่สมรสด้วย
                   (๒)  ให้ทำสัญญาประกันได้ในวงเงิน ไม่เกินสิบเท่าของอัตราเงินเดือน หรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
                   (๓)  การสั่งคืนสิ่งของ
                           -  ให้พิจารณาจากเงินเดือนหรือรายได้
                           -  แต่หากวงเงินประกันมียอดสูงกว่าวงเงินที่ผู้นั้นมีสิทธิประกันได้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี อาจกำหนดให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหลักทรัพย์อื่นเพิ่มเติมให้เพียงพอกับวงเงินประกันนั้นได้ หรืออาจให้มีบุคคลผู้เป็นประกันหลายคนร่วมกันทำสัญญาประกันโดยใช้วงเงินของแต่ละคนรวมกันได้
             เมื่อผิดเงื่อนไข
              ✩  ในกรณีที่มีการกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติ
                      -  หากผู้ได้รับอนุญาตฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด
              ✩  พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี
                      -  อาจสั่งให้ส่งคืนสิ่งของนั้นทันที หรือ
                      -  จะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติมก็ได้
              ✩  ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี แจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาต ส่งคืนสิ่งของ เมื่อปรากฏว่า
                     (๑)  มีเหตุจำเป็น ต้องใช้สิ่งของนั้นในการสอบสวน หรือแสดงเป็นพยานหลักฐานในการ
พิจารณาคดี
                     (๒)  ผู้ได้รับอนุญาต ผิดสัญญารับมอบสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ หรือผิดสัญญา
ประกัน
                    (๓)  คดีถึงที่สุด หรือคดีเสร็จเด็ดขาด และศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ริบ หรือให้คืนแก่
บุคคลอื่น
                    (๔)  มีการนำสิ่งของ ไปใช้ในการกระทำความผิดอีก
                    (๕)  ต้องคืนสิ่งของ ให้แก่เจ้าของหรือผู้มีสิทธิเหนือสิ่งของดีกว่า
                    (๖)  ครบกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต
                    (๗)  มีเหตุจำเป็นอย่างอื่น เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งของเสียหาย สูญหาย ถูกทำลาย ปลอม
หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง
              ✩  ผู้ได้รับอนุญาตจะส่งคืนสิ่งของก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตก็ได้
              ✩  ก่อนครบกำหนดระยะเวลา ที่ได้รับอนุญาตให้นำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                     ถ้าผู้ได้รับอนุญาตเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องนำสิ่งของนั้นไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ต่อไป ให้ผู้ได้รับอนุญาตนั้น
                          -  มีหนังสือถึงพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี
                          -  ก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
                          -  แจ้งถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ต่อไป