วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลาง

ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี
ลักษณะ ๑๕ ของกลางและของส่วนตัวผู้ต้องหา
บทที่ ๙ การปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลาง
               เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการยึดรถของกลางในคดีอาญาไว้เป็นจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาสถานที่เก็บรักษาไม่เพียงพอ และหากเจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บรักษาไว้เป็นเวลานาน หรือมอบให้ผู้อื่นเก็บรักษาไว้ ย่อมเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือเป็นเหตุให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินส่วนกับค่าของรถของกลาง จึงเป็นการสมควรที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลางไว้ดังนี้
              ข้อ ๑. "รถ" หมายถึง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถพ่วง รถบดถนน รถแทรคเตอร์ รถใช้งานเกษตรกรรม รถจักรยาน เกวียน รถลาก รถจ้าง
              ข้อ ๒. "รถของกลาง" หมายถึง รถซึ่งตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าพนักงาน โดยอำนาจแห่งกฎหมาย หรือโดยหน้าที่ทางราชการ และยึดไว้เพื่อพิสูจน์ในทางคดี หรือเพื่อจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการ
              ข้อ ๓. การจะใช้อำนาจยึดรถของกลางไม่ว่าในกรณีใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องคำนึงด้วยว่า มีกฎหมายให้อำนาจที่จะยึดไว้เป็นรถของกลางได้เพียงใดหรือไม่ ในกรณีที่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์รถของกลาง เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรยึดรถของกลางไว้ แต่ให้แนะนำคู่กรณีไปดำเนินการฟ้องร้องกันเองทางศาล สำหรับรถของกลางนั้นให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุผลที่ไม่ยึดรถของกลาง รวมทั้งพฤติการณ์แห่งเรื่องไว้ให้ปรากฏในบันทึกรายงานประจำวันด้วย
                เจ้าหน้าทีตำรวจได้ยึดรถของกลางไว้แล้ว ให้ผู้ยึดหรือผู้จับกุมรีบนำรถดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวนโดยด่วน หากนำส่งล่าช้าให้บันทึกเหตุผลในการนำส่งล่าช้าไว้ด้วย และให้พนักงานสอบสวนประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิเพื่อมาขอรับคืนต่อไป
             ข้อ ๔. ผู้มีหน้าที่เก็บรักษารถของกลาง
                       ๔.๑  สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สารวัตรใหญ่ หรือสารวัตรที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบหน่วยงาน หรือผู้รักษาการในตำแหน่ง หรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน แล้วแต่กรณี
                       ๔.๒  สำหรับในจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ รองผู้บังคับการ(ทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด)จังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด...เขต สารวัตรใหญ่ หรือสารวัตรที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบหน่วยงาน หรือผู้รักษาการในตำแหน่ง หรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน แล้วแต่กรณี
                       ๔.๓  ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษารถของกลาง ตามข้อ ๔.๑ และ ๔.๒ เก็บรักษารถของกลางไว้ภายในบริเวณสถานที่ทำการของตนหรือสถานที่อื่นใด ตามที่ผู้กำกับการตำรวจนครบาล รองผู้บังคับการ(ทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด)จังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด...เขต กำหนดแล้วแต่กรณี โดยการเก็บรักษาให้ใช้ความระมัดระวังตรวจตรารถของกลางให้เป็นอยู่ตามสภาพเดิมเท่าที่สามารถจะรักษาไว้ได้
                        ในกรณีจำเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อาจจะกำหนดสถานที่เก็บรักษารถของกลางไว้เป็นการเฉพาะก็ได้
              ข้อ ๕. เมื่อพนักงานสอบสวนได้ประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิรับรถคืน ครบกำหนด ๖ เดือน นับแต่วันยึดรถแล้ว และพนักงานสอบสวนเห็นว่า รถของกลางนั้น หากหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สิน และไม่เป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ทางคดีต่อไป ก็ให้เสนอต่อผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดดำเนินการขายทอดตลาด ตามข้อ ๑๕ แต่ก่อนจะขายทอดตลาด พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๙ และข้อ ๑๐ แล้ว
                 ในกรณีที่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์รถของกลาง และเมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ให้พนักงานสอบสวนรอฟังผลการพิจารณาของศาลก่อนแล้วจึงจะดำเนินการตามข้อบังคับนี้ต่อไป

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สัญญาประกันสิ่งของและการส่งคืน

กฎกระทรวงกำหนดวิธีการขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษา 
หรือใช้ประโยชน์ พ.ศ.๒๕๕๓
-----------------------

รายละเอียดในสัญญาประกัน
            สัญญาประกันคืนสิ่งของ  อย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับ
                   -  ผู้ยื่นคำร้อง
                   -  ระยะเวลา และสถานที่ ที่อนุญาตให้นำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                   -  ข้อความยินยอมชดใช้เงินตามจำนวน หรือ
                   -  อัตราที่กำหนดในกรณีที่สิ่งของนั้นชำรุดบกพร่อง หรือมิอาจส่งคืนได้ และ
                   -  ประกัน หรือหลักประกัน สำหรับในกรณีที่เป็นสัญญาประกัน

การเรียกประกัน
            การเรียกประกัน หรือหลักประกัน และการกำหนดเงื่อนไข จะต้องมีความเหมาะสมกับ
                   -  ความสำคัญของพยานหลักฐานในคดี และ
                   -  มูลค่าของสิ่งของ
                   -  โดยไม่สร้างภาระแก่ผู้ยื่นคำร้องจนเกินควรแก่กรณี
            การกำหนดมูลค่าของสิ่งของ เพื่อการเรียกประกันหรือหลักประกัน ให้คำนึงถึง
                   -  ราคาประเมินของทางราชการ หรือ
                   -  มูลค่า หรือราคาตามท้องตลาด ของสิ่งของลักษณะเดียวกันนั้น
            ในกรณีที่มูลค่าของหลักประกันลดลงหรือต่ำไป ให้แจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาต
                   -  หาหลักประกันมาเพิ่มให้ครบมูลค่าเดิมในขณะทำสัญญาประกัน หรือ
                   -  ให้ดีกว่าเดิม หรือ
                   -  เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นได้

หลักทรัพย์
            หลักทรัพย์ดังต่อไปนี้ ให้ใช้เป็นหลักประกันได้
                   (๑)  เงินสด
                   (๒)  ที่ดินมีโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
                   (๓)  ที่ดินมีโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์และสิ่งปลูกสร้าง
                   (๔)  ห้องชุดมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์
                   (๕)  พันธบัตรรัฐบาลไทย
                   (๖)  หุ้นหรือหุ้นกู้ที่ออกโดยนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
                   (๗)  หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอน เช่น
                          -  สลากออมสิน
                          -  บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสิน ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
                          -  ใบรับเงินฝากประจำธนาคาร
                          -  ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว
                          -  ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว
                          -  เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายและรับรอง ซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ ในวันที่ทำสัญญาประกัน
                          -  หนังสือรับรองของธนาคาร หรือบริษัทประกันภัยเพื่อชำระเบี้ยปรับแทน กรณีผิดสัญญาประกัน
                          -  หรือ หลักทรัพย์อื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
                    หลักทรัพย์ที่ดินและห้องชุด ให้นำ
                    -  โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด และ
                    -  หนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดินมาแสดง
                    -  หากนำสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินมาเป็นหลักประกันด้วย ต้องแสดงสำเนาทะเบียนบ้าน และหนังสือประเมินราคาสิ่งปลูกสร้าง ที่น่าเชื่อถือประกอบด้วย

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การขอคืนสิ่งของที่ถูกยึดระหว่างสอบสวนและผู้มีสิทธิขอคืน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕/๑
 เพิ่มโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๐

         การยื่นคำร้องขอคืนสิ่งของในระหว่างสอบสวน 
                  -  สิ่งของที่เจ้าพนักงานได้ยึดไว้ ซึ่งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำ หรือมีไว้ เป็นความผิด ถ้ายังไม่ได้นำสืบ หรือแสดงเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี
                  -  เจ้าของ หรือผู้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้อง ขอคืนสิ่งของ ที่เจ้าพนักงานยึดไว้ อาจยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี
                  -  เพื่อขอรับสิ่งของนั้นไปดูแลรักษา หรือใช้ประโยชน์ โดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้

         เงื่อนไขและการสั่งคืนสิ่งของ
                  -  การสั่งคืนสิ่งของดังกล่าวข้างต้น จะต้องไม่กระทบถึงการใช้สิ่งของนั้นเป็นพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในภายหลัง
                  -  ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ  มีคำสั่งโดยมิชักช้า โดยอาจเรียกประกันจากผู้ยื่นคำร้อง  หรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้บุคคลนั้นปฏิบัติ และ
                  -  หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือ บุคคลดังกล่าวไม่ยอมคืนสิ่งของนั้น เมื่อมีคำสั่งให้คืน ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี มีอำนาจยึดสิ่งของนั้นกลับคืน และบังคับตามสัญญาประกัน เช่นว่านั้นได้
                   -  วิธีการยื่นคำร้อง เงื่อนไขและการอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

กรณีมีคำสั่งไม่อนุญาต หรือคำสั่งอนุญาต
                   -   ในกรณีที่พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ มีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลชั้นต้น ที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการไม่อนุญาต และให้ศาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์
                   -  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต ศาลอาจเรียกประกัน หรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด

(สรุป. – การขอคืนของกลางบางอย่างในระหว่างสอบสวนต้องมิใช่ทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด สามารถสั่งคืนได้โดยมีประกันและเงื่อนไข หากไม่อนุญาต ก็ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นได้)

                     สาระสำคัญ กฎกระทรวงกำหนดวิธีการ ขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ ไปดูแลรักษา หรือใช้ประโยชน์ พ.ศ.๒๕๕๓  (คลิกที่นี่)
                  -  บุคคลดังต่อไปนี้ มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ได้
                      (๑)  เจ้าของ หรือผู้มีกรรมสิทธิ์
                      (๒) ผู้ซึ่งมีสิทธิในการใช้ , ครอบครอง , ยึดหน่วง  หรือสิทธิเรียกร้องอื่นตามที่กฎหมายรับรอง  รวมถึง ผู้เช่าซื้อ , ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก หรือ ผู้จัดการมรดก
                  -  ผู้ยื่นคำร้องจะต้องแสดงหลักฐานแห่งการเป็นเจ้าของ  หรือเอกสารหรือหลักฐานใด ๆ เพื่อแสดงถึงสิทธิที่ตนมีอยู่เหนือสิ่งของนั้น
                  -  ในกรณีผู้ยื่นคำร้อง มีสิทธิในสิ่งของ ซึ่งมีเจ้าของกรรมสิทธิ์หลายรายรวมกัน จะต้องแสดงเอกสารหลักฐานแสดงความยินยอมในการร้องขอคืนสิ่งของ จากเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกราย

คำร้อง
                  ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
                  (๑)  สิ่งของ ที่ประสงค์จะขอคืน
                  (๒)  เหตุผล ความจำเป็น และความเร่งด่วน ที่ร้องขอคืนสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้
ประโยชน์
                  (๓)  ระยะเวลา ที่ประสงค์จะนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                  (๔)  ผู้ที่จะดูแลรักษา หรือใช้ประโยชน์จากสิ่งของ
                  (๕)  สถานที่ ที่นำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                  (๖)  หลักฐาน ในการแสดงสิทธิตามข้อ ๑
            ในการพิจารณาคำร้อง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี คำนึงถึงเหตุ
ดังต่อไปนี้
                 (๑)  เหตุผล ความจำเป็น และความเร่งด่วนที่ต้องนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                 (๒)  ความเสี่ยงภัย หรือเสี่ยงต่อความเสียหาย สูญหาย ถูกทำลาย ปลอม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง ที่อาจเกิดกับสิ่งของที่จะนำไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                 (๓)  ความน่าเชื่อถือ ของหลักประกัน
                 (๔)  ความน่าเชื่อถือ ของผู้ที่จะนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                 (๕)  ระยะเวลา ที่จะนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
                 (๖)  คำคัดค้าน ของผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามข้อ ๑ วรรคหนึ่ง คำคัดค้านของผู้ต้องหา หรือคำคัดค้านของผู้เสียหาย
                 (๗)  พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดี

ผู้ยื่นคำร้องหลายรายต่างอ้างสิทธิในสิ่งของเดียว
               -  ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องหลายรายขอคืนสิ่งของอย่างเดียวกัน โดยอ้างสิทธิต่างกัน
               -  ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี มีอำนาจกำหนดให้ผู้ยื่นคำร้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควร เพื่อพิสูจน์สิทธิของตนก่อนมีคำสั่ง
               -  เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ยื่นคำร้องรายใดเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิเหนือสิ่งของดีกว่าผู้อื่น ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี มีคำสั่งคืนสิ่งของแก่ผู้นั้น

หลักเกณฑ์การคืนรถของกลาง (ชนแล้วหลบหนี)

               กรณีที่พนักงานสอบสวนยึดรถยนต์ชนแล้วหลบหนี เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้เรียกขอรับรถคืน ให้พิจารณาจากหลักเกณฑ์ ดังนี้
               ๑.  เมื่อพนักงานสอบสวนได้จัดการเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์รถของกลางหรือผู้ชำนาญการที่ประสบการณ์ในการตรวจสภาพความเสียหายของรถคู่กรณี ในทางคดีเสร็จแล้ว
              ๒.  มีหลักฐานแสดงว่าผู้ร้องขอรับรถคืนเป็นเจ้าของที่แท้จริงหรือเป็นผู้ครอบครองรถโดยชอบด้วยกฎหมาย
              ๓.  เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถได้ดำเนินการดังต่อไปนี้
                ๓.๑  เจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ปกปิดช่วยเหลือผู้ขับรถของตนให้พ้นจากการจับกุม แต่ได้กระทำการใดฯ อันแสดงว่าได้พยายามช่วยเหลือเพื่อให้พนักงานจับกุมคนขับที่หลบหนี เช่น ได้นำเอกสารหลักฐานอันสำคัญที่น่าเชื่อว่าเป็นผู้ขับรถคันเกิดเหตุแล้วหลบหนี
                ๓.๒  เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้ช่วยเหลือ และได้บรรเทาผลร้าย
                ๓.๓  ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ ค่าเสียหาย จนผู้เสียหายพอใจ แต่ในกรณีที่ผู้เสียหายเรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควรจนเห็นได้ชัด ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้พอสมควรแล้ว แม้ผู้เสียหายยังไม่ยอมรับก็อาจคืนรถให้ไปได้        
                       ข้อความในข้อ  ๓.๓ นี้ไม่ใช้บังคับในกรณีที่การสอบสวนปรากฏชัดว่ารถนั้นถูกผู้อื่นโจรกรรมไป และผู้ขับขี่ได้ขับขี่ไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
              ๔. กรณีได้ตัวผู้ต้องหาหลังจากที่กระทำผิดแล้วหลบหนี ผู้ร้อง สามารถเสนอขอคืนของกลางรถได้ทันทีโดยไม่ต้องดำเนินการตาม ข้อ ๓
             ๕. ผู้มีอำนาจสั่งคืน เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถที่ถูกยึดไว้ร้องขอรับรถคืน ให้ดำเนินการดังนี้
                 ๕.๑ ให้พนักงานสอบสวนที่สอบสวนคดีนั้น เสนอข้อเท็จจริงและสำนวนการสอบสวน พร้อมด้วยความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณา และให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือสารวัตรหัวหน้าหน่วยงาน เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งคืนหรือไม่คืนรถที่ยึดไว้ เว้นแต่ กรณีที่หัวหน้าสถานีตำรวจหรือสารวัตรหัวหน้าหน่วยงาน เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการคืนรถ ให้นำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือเป็นผู้พิจารณา
                 ๕.๒  ในกรณีที่เรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือผู้กำกับการ  (ผบก.ฯ) เช่น  มีผู้ร้องเรียนต่อ ตร. ผบช.  ให้ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวเป็นผู้พิจารณาสั่งคืนหรือไม่คืนรถที่ยึดไว้แทนผู้กำกับการ (ผบก.ฯ)
               (ที่มา.- หนังสือ คด.ตร.ที่  ๐๕๐๓/๒๑๙๒๓ ลง ๑๓ ส.ค.๒๕๒๓ เรื่องหลักเกณฑ์การคืนรถยนต์ของกลาง  และหนังสือ คด.ตร.ที่ ๐๖๐๖.๖/๑๕๓๒๐ ลง ๓ พ.ย.๒๕๔๐ การคืนรถยนต์ของกลางตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ )