วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

รถของกลาง

หมวด 4 
รถของกลาง 

                 ข้อ 69  การจะใช้อำนาจยึดรถของกลางไม่ว่ากรณีใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องคำนึงด้วยว่ามีกฎหมายให้อำนาจที่จะยึดไว้เป็นรถของกลางได้เพียงใดหรือไม่ ในกรณีที่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์รถของกลาง เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรยึดรถของกลางไว้ แต่ให้แนะนำคู่กรณีไปดำเนินการฟ้องร้องกันเองทางศาล สำหรับรถของกลางนั้น ให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุผลที่ไม่ยึดรถของกลาง รวมทั้งพฤติการณ์แห่งเรื่อง ไว้ให้ปรากฏในบันทึกรายงานประจำวันด้วย
                  กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถของกลางไว้แล้ว ให้ผู้ยึดหรือผู้จับกุมรีบนำรถดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวนโดยด่วน หากนำส่งล่าช้าให้บันทึกเหตุผลในการนำส่งล่าช้าไว้ด้วย และให้พนักงานสอบสวนประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิเพื่อมาขอรับรถคืนไป

                 ข้อ 70  เมื่อพนักงานสอบสวนได้ประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิรับรถคืนครบกำหนด 6 เดือนนับแต่วันยึดรถแล้ว และพนักงานสอบสวนเห็นว่ารถของกลางนั้นอาจหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สิน และไม่เป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ทางคดีต่อไป ให้เสนอต่อผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาด ดำเนินการขายทอดตลาดตามข้อ 76 แต่ก่อนจะขายทอดตลาด พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามข้อ 71 ข้อ 72 ข้อ 74 และข้อ 75 แล้ว
                  ในกรณีที่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์รถของกลาง และเมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ให้พนักงานสอบสวนฟังผลการพิจารณาของศาลก่อน แล้วจึงจะดำเนินการตามระเบียบนี้ต่อไป

                 ข้อ 71  ให้พนักงานสอบสวนและผู้นำส่งรถของกลางลงบันทึกไว้ในรายงานประจำวันให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับรถของกลาง อันจะเป็นเหตุให้เจ้าของหรือผู้มีสิทธิจะรับรถของกลางคืนนั้น ทราบว่าเป็นรถของตนและสามารถพิสูจน์ได้ตามมาตรา 1327 วรรคสอง แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อความในบันทึกให้มีรายการดังต่อไปนี้
                  (1) ลักษณะรถ
                  (2) หมายเลขทะเบียนรถ
                  (3) ประเภทรถ
                  (4) ชื่อชนิดรถ (แบบ/รุ่น/ปีที่ผลิต)   
                  (5) สี (ถ้ามีหลายสีให้ลงรายละเอียดให้ชัดเจน) 
                  (6) เลขหมายเครื่องยนต์และเลขหมายตัวถัง รวมทั้งตำแหน่งที่อยู่ของเลขหมายดังกล่าว
                  (7) อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวรถของกลาง เช่น วิทยุ เครื่องเสียง เครื่องมือ ล้ออะไหล่ ฯลฯ 
                  (8) รายละเอียดอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อบ่งชี้ลักษณะของรถ

                ข้อ 72  ในระหว่างดำเนินการตามข้อ 69 ข้อ 70 และข้อ 71 ให้พนักงานสอบสวนทำการสืบสวนหาผู้ที่เป็นเจ้าของรถ หรือที่มาของรถ โดยไม่ชักช้า และดำเนินการดังต่อไปนี้
                  (1) ตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนรถ
                  (2) ตรวจสอบใบคู่มือจดทะเบียนรถ
                  (3) ตรวจสอบป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปี
                  (4) สอบถามไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรว่ามีการแจ้งหายที่ได้หรือไม่ ถ้ามีการแจ้งหายในท้องที่ของสถานีตำรวจใด ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบติดต่อกับท้องที่นั้น ให้นำหลักฐานการแจ้งหายมาแสดง เพื่อขอรับรถหรือพิสูจน์ความเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิ มาขอรับรถต่อไป
                 ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรดำเนินการตรวจสอบและแจ้งผลการดำเนินการให้พนักงานสอบสวนทราบโดยมิชักช้า

                ข้อ 73  หากปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของรถหรือผู้มีสิทธิจะรับรถ ก็ให้ติดต่อผู้นั้นมาขอรับรถคืนไป

                ข้อ 74  หากผลการตรวจสอบปรากฏว่ายังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของรถหรือผู้มีสิทธิขอรับรถ ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางดำเนินการโดยเร่งด่วน ดังนี้
                   (1) กรณีไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนรถ ต้องตรวจสอบเลขหมายเครื่องยนต์เลขหมายตัวถัง แล้วแจ้งเลขใหม่ดังกล่าวพร้อมชื่อ ชนิดรถ (แบบ/รุ่น/ปีที่ผลิต) ชื่อเครื่องยนต์ เพื่อตรวจสอบไปยัง 
                         ก) กรมการขนส่งทางบก
                         ข) บริษัทตัวแทนจำหน่าย
                         ค) บริษัทผู้ผลิต
                         ง) กองทะเบียนประวัติอาชญากร
                   (2) กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเลขหมายเครื่องยนต์หรือเลขหมายตัวถัง ต้องนำรถของกลางส่งกองพิสูจน์หลักฐานกลาง หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10  เพื่อตรวจสอบเลขหมายที่แท้จริง หากทราบเลขใหม่แล้ว ให้ดำเนินการตรวจสอบตาม (1) เพื่อทราบตัวเจ้าของรถต่อไป ถ้าไม่ทราบเลขหมายที่แท้จริง ให้ส่งรถของกลางไปให้บริษัทผู้ผลิต เพื่อตรวจสอบเลขหมายที่แท้จริงต่อไป และผลการตรวจสอบของบริษัทตัวแทนจำหน่ายหรือบริษัทผู้ผลิต ไม่ปรากฏว่ามีบริษัทใดเป็นผู้นำเข้าหรือเป็นผู้ผลิต ก็ให้ตรวจสอบว่าเป็นรถที่มีผู้นำเข้าโดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ หากไม่ปรากฏหลักฐานการเสียภาษีศุลกากร ก็ให้ส่งรถของกลางดังกล่าวให้กรมศุลกากรดำเนินการตามกฏหมายว่าด้วยศุลกากรต่อไป

                ข้อ 75  การตรวจสอบหลักฐานหรือส่งรถของกลางไปตรวจพิสูจน์ตามข้อ 72 และข้อ 74 ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันยึดรถ หากไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนด ให้เสนอขออนุมัติขยายเวลาต่อผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดตามข้อ 76 เพื่อพิจารณาสั่งการ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้ดำเนินการขายทอดตลาดไป

                ข้อ 76  เมื่อได้ประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิตามข้อ 69 และข้อ 70 ให้ดำเนินการตามข้อ 74 แล้ว ไม่มีบุคคลใดมาแสดงความเป็นเจ้าของรถของกลางดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บังคับการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาด และให้ผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดตั้งคณะกรรมการขายทอดตลาดไม่น้อยกว่า 3 นาย ประกอบด้วยสารวัตรขึ้นไปอย่างน้อย 1 นาย และกรรมการอื่นๆ ต้องเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินการขายทอดตลาด
                ข้อ 77  ก่อนขายทอดตลาดให้คณะกรรมการขายทอดตลาดตามข้อ 76 ดำเนินการประเมินราคารถจากห้างร้านอย่างน้อย 3 ร้าน เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบราคากลางและให้ใช้ราคาประเมินที่สูงที่สุดจากจำนวน 3 ร้าน เป็นราคาขายทอดตลาดเพื่อให้ทางราชการได้รับประโยชน์สูงสุด

                ข้อ 78  สำหรับวิธีการขายทอดตลาดให้ปฏิบัติตามกฏหมายหรือระเบียบที่ว่าด้วยการนั้น

                ข้อ 79  เมื่อขายทอดตลาดได้เงินจำนวนเท่าใด ให้นำเงินดังกล่าวฝากไว้ที่กองบังคับการหรือกองบัญชาการต้นสังกัดที่เป็นหน่วยงานผู้เบิก เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 1327 แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังไม่มีผู้ใดแสดงความเป็นเจ้าของ ให้นำเงินดังกล่าวส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน หากระหว่างนั้นมีผู้มาแสดงความเป็นเจ้าของรถของกลาง ให้ตรวจสอบหลักฐานให้แน่ชัดแล้วให้คืนเงินดังกล่าวแก่ผู้นั้น โดยขออนุมัติจากผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดตามข้อ 76 เสียก่อน

                ข้อ 80  เมื่อได้รับรายงานจากพนักงานสอบสวนตามข้อ 70 ว่ารถของกลางนั้น หากหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สิน และไม่เป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ทางคดีต่อไป ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดตามข้อ 76 พิจารณา หากเห็นชอบด้วยก็ให้ดำเนินการขายทอดตลาดรถของกลางนั้นตามวิธีการดังกล่าวข้างต้น

(ข้อคิดเห็น - การยึดรถต้องคำนึงถึงกฎหมายที่ให้อำนาจไว้แล้ว โดยรีบมอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อบันทึกรายละเอียดและสืบสวนจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน เพื่อหาผู้มีสิทธิมารับคืน ถ้าครบกำหนด 6 เดือน แล้วรถจะเสียหาย ก็ให้ดำเนินการขายทอดตลาดก็ได้ แต่ถ้ามีการฟ้องร้องโต้แย้งกันในชั้นศาล ก็ให้ฟังผลการตัดสินคดีก่อน) 

เรือของกลาง

หมวด 3 
เรือของกลาง 

                 ข้อ 67  เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับมอบเรือของกลางจากเจ้าพนักงานตำรวจ ให้ดำเนินการ ดังนี้ 
                   (1)  จัดทำบัญชีรายละเอียดเกี่ยวกับเรือ เครื่องประกอบเรือ รวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ และจัดทำป้ายระบุเลขคดีอาญา วันที่จับกุม ชื่อผู้จับกุม และหน่วยงาน ข้อกล่าวหา สถานีตำรวจที่รับคดี ไว้ที่เรือ แล้วส่งมอบเรือให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางเพื่อการเก็บรักษาไว้
                   (2)  ในการดูแลรักษาเรือซึ่งมีเครื่องประกอบเรือรวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ยึดไว้ หากสามารถทำการตกลงกับหน่วยงานราชการอื่นได้ เช่น กรมเจ้าท่า กรมประมง ฯลฯ ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางมอบการดูแลรักษาเรือให้กับหน่วยงานราชการดังกล่าว โดยให้จัดทำบันทึกการดูแลรักษาเรือไว้เป็นหลักฐานในสมุดยึดทรัพย์ของกลางด้วย
                          หากไม่สามารถทำการตกลงกับหน่วยราชการอื่นได้ ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางมอบเรือให้สถานีตำรวจน้ำ กองบังคับการตำรวจน้ำ ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตน เป็นผู้ดูแลรักษาเรือของกลาง แต่หากไม่มีสถานีตำรวจน้ำ กองบังคับการตำรวจน้ำ อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ จะเก็บรักษาเรือไว้ในสถานที่ของเอกชนซึ่งมิได้มีส่วนได้เสียในคดีก็ได้ โดยค่าใช้จ่าย ในการเก็บรักษาให้เบิกจ่ายตามระเบียบของทางราชการ
                   (3) กรณีทรัพย์สินต่าง ๆ ที่อยู่ในเรือเป็นของเสียง่ายหรือกรณีที่เรือ เครื่องประกอบเรือ และทรัพย์สินต่าง ๆ ที่อยู่ในเรือที่ถูกยึดหรือควบคุมไว้ หากหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย อาจเกิดอันตรายต่อการเดินเรือ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรืออาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาจมีค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับมูลค่าของเรือเครื่องประกอบเรือและทรัพย์สินที่อยู่ในเรือ หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน หรือผู้รักษาการแทนอาจดำเนินการให้เอาเรือ เครื่องประกอบเรือ และทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดก็ได้
                         การขายทอดตลาดเรือ เครื่องประกอบเรือ และทรัพย์สินต่าง ๆ ที่อยู่ในเรือที่ถูกยึดไว้ให้ดำเนินการตามข้อ 48 เมื่อได้เงินจากการขายทอดตลาดมาแล้วให้หักค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาด ทั้งนี้ ในการรับเงินและการเก็บรักษาเงินให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ

                 ข้อ 68  การปฏิบัติต่อเรือของกลางที่เจ้าพนักงานอื่นได้ใช้อำนาจตามกฏหมายเฉพาะยึดไว้ ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว

(ข้อคิดเห็น - กรณีไม่มีกฎหมายเฉพาะให้ยึดเรือไว้ได้ เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับมอบเรือที่ถูกยึด ให้จัดทำบัญชีและรายละเอียดต่าง ๆ แล้วมอบให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดูแลรักษา แต่ถ้าตกลงไม่ได้ ก็มอบให้สถานีตำรวจน้ำดูแลรักษา ถ้าไม่มี ก็ให้เก็บรักษาไว้กับเอกชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ส่วนของในเรือที่เสียง่ายนั้น ให้หัวหน้าสถานีตำรวจที่รับผิดชอบคดีนำออกขายทอดตลาดก็ได้)

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ไม้ของกลาง

หมวด 2 
ไม้ของกลาง

                 ข้อ 62  การปฏิบัติต่อไม้ของกลางตามระเบียบนี้ ได้แก่ บรรดาไม้ ของป่า สิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้ สัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า เครื่องมือเครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะหรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่ตรวจยึดได้ในคดีความผิดเกี่ยวกับการป่าไม้ 

                 ข้อ 63  ของกลางที่ตรวจยึดได้ในคดีความผิดเกี่ยวกับการป่าไม้ทุกชนิด ยกเว้นของกลางที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ มอบให้กรมป่าไม้รับไปดูแลรักษาและจัดการตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยเร็ว
                 ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและจัดการของกลางตามวรรคหนึ่ง ให้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้
                 สำหรับของกลางที่เป็นอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด ให้ส่งมอบพนักงานสอบสวนรับไปเก็บรักษาและดำเนินการตามระเบียบนี้ 
                 กรณีของกลางประเภทเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และดอกไม้เพลิงที่มีลักษณะเสื่อมสภาพ หากเก็บรักษาไว้อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการขออนุมัติทำลายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

                ข้อ 64  ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีความผิดตามกฏหมายว่าด้วยป่าไม้ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
                 ในคดีที่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด หรือรู้ตัวผู้กระทำความผิดแต่ผู้กระทำความผิดหลบหนีไป และไม่มีผู้ใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในของกลางนั้น ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ประกาศโฆษณาหาเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์โดยประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวน ที่ทำการกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน และที่พบหรือที่ตรวจยึดของกลางนั้น ไม่น้อยกว่า 30 วัน เมื่อพ้นกำหนดแล้วไม่มีผู้ใดอ้างกรรมสิทธิ์ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้รับผิดชอบดูแลรักษาของกลางนั้นทราบ เพื่อดำเนินการตามกฏหมายหรือระเบียบต่อไป
                 ในกรณีไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสืบสวนและงดการสอบสวน โดยปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการสืบสวนและงดการสอบสวน ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น

                 ข้อ 65  ของกลางที่ตรวจยึดไว้ตามข้อ 63 ยกเว้นของกลางที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ หากเป็นของที่เสียง่าย หรือถ้ารอจนคดีถึงที่สุดจะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของกลาง ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางขอความเห็นชอบจากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบในคดีนั้น เพื่อดำเนินการจำหน่ายหรือทำลายในระหว่างคดี แล้วแต่กรณี ตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้ร่วมกับพนักงานสอบสวนจัดการบันทึกรายละเอียดตำหนิรูปพรรณตลอดจนร่องรอยหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับของกลางนั้นไว้ก่อนเมื่อจำหน่ายแล้วได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใดให้ถือไว้แทนของกลางนั้น
                 ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น 

                ข้อ 66  ของกลางที่เจ้าพนักงานตรวจยึดไว้ตามมาตรา 64 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 ถ้ามีผู้ร้องขอคืนในระหว่างคดี ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีแจ้งให้ป่าไม้เขตหรือป่าไม้จังหวัดท้องที่ผู้รักษาของกลางแล้วแต่กรณีพิจารณาเสนอกรมป่าไม้ เพื่อดำเนินการขออนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามมาตรา 64 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว จึงจะคืนให้เจ้าของหรือผู้มีสิทธิไปได้

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป ของกลางที่เกี่ยวข้องกับความผิดเกี่ยวกับการป่าไม้ ให้มอบกรมป่าไม้รับไปดูแลรักษา เว้นแต่ของกลางตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ ส่วนของกลางที่เป็นของที่เสียง่าย หรือเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วน ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ขอความเห็นชอบจากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีนั้นก่อนจะดำเนินการตามระเบียบ ส่วนของกลางที่ไม่มีผู้โต้แย้งกรรมสิทธิ์หลังจากที่พนักงานสอบสวนประกาศโฆษณาหาเจ้าของ ไม่น้อยกว่า 30 วันแล้ว ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพื่อดำเนินการตามระเบียบต่อไป ส่วนการขอคืนของกลางระหว่างดำเนินคดี พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งป่าไม้เขตหรือป่าไม้จังหวัด เพื่อขออนุมัติ รมต.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อน จึงจะคืนให้เจ้าของหรือผู้มีสิทธิไปได้)

อาวุธปืนของกลาง

ลักษณะ 6  
ของกลางที่มีการปฏิบัติเป็นพิเศษ

หมวด 1 
อาวุธปืนของกลาง

                 ข้อ 53  การเก็บรักษาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง ให้ดำเนินการ ดังนี้ 
                  (1) ให้เก็บรักษาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ที่สถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน หรือหน่วยงานที่เก็บรักษาอาวุธปืน จนถึงกรณีที่ต้องส่งให้กองสรรพาวุธตามข้อ 59 
                  (2) ในระหว่างที่เก็บรักษา ให้หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน หรือ หัวหน้าหน่วยที่เก็บรักษาอาวุธปืน ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนและดำเนินการกับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางตามข้อ 61 โดยดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 30 กันยายน ของทุกปี

                 ข้อ 54  ให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และกองสรรพาวุธ เป็นหน่วยตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง

                 ข้อ 55  ให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ มีหน้าที่ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนตามกฏหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะอาวุธปืนที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องต่ำกว่า 40 มิลลิเมตร และเครื่องกระสุนปืน (กระสุนโดด กระสุนปลาย เครื่องหรือสิ่งสำหรับอัดหรือทำหรือใช้ประกอบเครื่องกระสุนปืน) ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 40 มิลลิเมตร โดยมีวัตถุประสงค์การตรวจพิสูจน์ ดังนี้
                 (1) ของกลาง (ปืน ปลอกกระสุนปืน ลูกกระสุนปืน) ใช้ยิงมาแล้ว หรือไม่
                 (2) ของกลางเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ตามกฏหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนหรือไม่  
                 (3) ของกลางเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนชนิดใด และมีขนาดใด  
                 (4) ของกลางเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้หรือไม่ 
                 (5) ของกลางใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตหรือทำลายวัตถุได้หรือไม่
                 (6) อาวุธปืนของกลางมีรอยขูดลบแก้ไข เครื่องหมายทะเบียนและเลขหมายประจำปืนหรือไม่
                 (7) ตรวจเปรียบเทียบลูกกระสุนปืน/ปลอกกระสุนปืนที่ได้จากที่เกิดเหตุกับอาวุธต้องสงสัย
                การตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง นอกเหนือจากกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นหน้าที่ของกองสรรพาวุธ

                ข้อ 56  ให้พนักงานสอบสวนส่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปตรวจพิสูจน์ที่หน่วยตรวจพิสูจน์โดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัย
                ให้กองสรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง มีหน้าที่ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง นอกเหนือจากกรณีข้อ 55 และมีหน้าที่ตรวจพิสูจน์ยุทธภัณฑ์ของกลางตามกฏหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์

               ข้อ 57  ให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ หรือกองสรรพาวุธ ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางให้แล้วเสร็จภายใน 20 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับ หากมีเหตุผลความจำเป็นไม่สามารถตรวจพิสูจน์ให้แล้วเสร็จ ให้ผู้ตรวจพิสูจน์ประสานแจ้งพนักงานสอบสวนเป็นกรณี ๆ ไป

               ข้อ 58  พนักงานสอบสวนจะต้องไปรับผลการตรวจพิสูจน์พร้อมอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางกลับไปจากหน่วยตรวจพิสูจน์ ภายใน 7 วันทำการ นับจากวันที่ครบกำหนดตามข้อ 57 หรือวันที่ได้รับแจ้งจากผู้ตรวจพิสูจน์ว่าผลการตรวจพิสูจน์แล้ว เสร็จ 

               ข้อ 59  การปฎิบัติในการส่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางที่ต้องส่งให้กองสรรพาวุธเก็บรักษา มีดังนี้   
               (1) เป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบเป็นของแผ่นดิน
               (2) นอกจากกรณีตาม (1) ต้องเป็นกระสุนปืนของกลางในคดีอาญาที่ตกเป็นของแผ่นดินตามกฏหมาย
               (3) กรณีไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดหรือคดีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิดแต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้ ให้ส่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางให้กองสรรพาวุธเมื่อพ้นอายุความคดีอาญา ยกเว้นกรณีตาม (4) 
               (4) กรณีคดีไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด รวมทั้งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางเป็น ยุทธภัณฑ์ ถ้าในขณะยึดไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้สั่งเข้ามา ผู้นำเข้ามา ผู้ผลิตหรือผู้มี และไม่มีผู้ใดมาแสดงตนเป็นผู้สั่งเข้ามา ผู้นำเข้ามา ผู้ผลิตหรือผู้มี เพื่อขอรับคืนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ยึดไว้ซึ่งตกเป็นของรัฐตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 ให้ส่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางให้กองสรรพาวุธ เมื่อของกลางนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

              ข้อ 60  เมื่อกองสรรพาวุธได้รับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางที่ส่งให้เก็บรักษาแล้ว ให้ปฏิบัติดังนี้ 
               (1) ถ้าเป็นยุทธภัณฑ์ ให้ดำเนินการส่งให้กระทรวงกลาโหมเพื่อจัดการตามที่เห็นสมควรตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
               (2) ถ้าไม่ใช่ยุทธภัณฑ์ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจแยกประเภท เพื่อดูว่าเอาคืนมีสภาพใช้การได้ และมีมาตรฐานตรงกับความต้องการตามที่ทางราชการกำหนดไว้ ให้ขึ้นทะเบียนไว้ใช้ในราชการ หากอาวุธปืนกระบอกใดชำรุดจนถึงขนาดซ่อมแซมไม่ได้หรือใช้การไม่ได้ ให้ทำลายหรือถอดปรนเอาชิ้นส่วนที่ใช้การได้ไว้ใช้ในราชการต่อไป สำหรับเครื่องกระสุนปืนให้จัดการทำลายโดยดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 30 กันยายนของทุกปี 
              การขึ้นทะเบียนไว้ใช้ในราชการ การทำลาย หรือการผ่อนปรนเอาชิ้นส่วนที่ใช้การได้ไว้ใช้ในราชการ ให้ขออนุมัติต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้ถือปฏิบัติเป็นไปตามที่กฎหมายหรือระเบียบได้กำหนดไว้

              ข้อ 61  หากเป็นอาวุธปืนไทยประดิษฐ์ทุกชนิดที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน ให้สถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนหรือหน่วยงานที่เก็บรักษาอาวุธปืนตั้งคณะกรรมการทำลาย โดยได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาระดับผู้บังคับการของหน่วยงานดังกล่าวและทำลายให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 30 กันยายนของทุกปี ทั้งนี้ เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางที่สำนักงานส่งกำลังบำรุงกำหนด

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางต้องมีการเก็บรักษาและมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกปี หน่วยงานที่ทำการตรวจพิสูจน์ คือ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ แต่ถ้ามีขนาดเกินกว่าที่กำหนดไว้หรือยุทธภัณฑ์ให้เป็นหน้าที่ของ กองสรรพาวุธ ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนควรรีบส่งไปตรวจพิสูจน์ภายใน 3 วัน หน่วยงานที่ตรวจพิสูจน์ควรตรวจให้เสร็จภายใน 20 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วพนักงานสอบสวนควรรีบขอรับคืนภายใน 7 วัน สถานีตำรวจสามารถตั้งคณะกรรมการทำลายอาวุธปืนไทยประดิษฐ์ทุกชนิดที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนได้ ส่วนอาวุธปืนนอกเหนือจากนี้ให้เลือกพิจารณาจัดส่งกองสรรพาวุธเก็บรักษาเพื่อดำเนินการตามที่กำหนดไว้ข้างต้น)   

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

การจำหน่ายของกลาง

ลักษณะ 5 
การจำหน่ายของกลาง

                 ข้อ 47  วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการคืนของกลาง ให้ถือปฏิบัติดังนี้
                 (1)  ของกลางในคดีอาญา ที่ทราบตัวผู้มีสิทธิจะได้รับคืนอยู่แล้ว เมื่อผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางได้แจ้งหรือประกาศให้ทราบ แต่ผู้นั้นยังไม่มารับของคืนไปเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่แจ้งหรือประกาศให้ทราบ ก็ให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้หมายเหตุไว้ในบัญชีแล้วจัดการต่อไปดั่งเช่นของกลางที่ต้องริบ
                 (2)  ของกลางในคดีอาญาที่ไม่ทราบตัวผู้มีสิทธิจะได้รับของคืน ให้ประกาศหาเจ้าของภายใน 5  ปี นับแต่วันประกาศ ไม่ได้ตัวผู้มีสิทธิมารับของนั้น ก็ให้ริบเป็นของแผ่นดิน และให้จัดการทำนองเดียวกับ (1) 
                 อนึ่ง ถ้าปรากฏตัวผู้มีสิทธิจะได้รับของคืนในระหว่างเวลาประกาศ และผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางได้แจ้งให้ทราบแล้ว แต่ผู้นั้นยังไม่มารับของคืนไปเช่นนี้ การที่จะให้ของกลางนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ให้ถือกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ผู้มีสิทธิได้ทราบ ถ้ากำหนดเวลา 5 ปี ที่ประกาศไว้จะถึงกำหนดเวลาที่เร็วกว่า ก็ให้ถือกำหนดเวลาที่เร็วกว่านั้น 
                 (3)  ของกลางอย่างอื่นที่ปรากฏตัวผู้มีสิทธิจะได้รับตามกฏหมายแล้ว แต่ผู้นั้นยังไม่มารับของไป ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 10 ปี หรือสังหาริมทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นมีสิทธิจะได้รับของไปจากผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง ก็ให้ตกเป็นของแผ่นดิน และจัดการทำนองเดียวกับ (1) ทั้งนี้ ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางแจ้งหรือประกาศให้ผู้นั้นมารับของคืนไป 
                 (4)  การแจ้งของผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง ให้มีหนังสือแจ้งผู้มีสิทธิทราบโดยตรง หากไม่สามารถแจ้งโดยตรงได้ ให้แจ้งโดยวิธีอื่นแทน เช่น ปิดหนังสือแจ้งไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของผู้มีสิทธิ หรือประกาศ หรือลงโฆษณา หรือวิธีอื่นใดตามความสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลา 15 วัน หรือระยะเวลานานกว่านั้น ตามที่ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางเห็นสมควร นับแต่วันที่ได้ปิดหนังสือแจ้งหรือลงโฆษณาหรือวิธีอื่นใด ให้ถือว่าผู้มีสิทธิได้รับทราบการแจ้งของเจ้าหน้าที่แล้ว
                 (5)  ถ้าของกลางรายใดเป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย เสื่อมค่า หรือเสื่อมราคา หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะเกินส่วนกับค่าของกลาง ให้จัดการขายทอดตลาดก่อนได้ เว้นแต่การขายทอดตลาดหากหน่วงช้าไปจะทำให้เกิดความเสียหายไม่ทันการณ์ และจำเป็นต้องใช้วิธีการอื่นที่เหมาะสมแทน
                 ก่อนที่จะขายทอดตลาดให้จัดการตามสมควรเพื่อบันทึกรายการอันเป็นเครื่องให้บุคคลผู้มีสิทธิจะได้รับของกลางนั้น อาจทราบว่าเป็นทรัพย์ของตนและพิสูจน์สิทธิได้ เมื่อขายแล้วได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ถือไว้แทนของกลาง 
                 (6)  ของกลางคดีอาญาที่ตกเป็นของแผ่นดิน และเป็นของควรขายให้แก่บุคคลที่มีได้โดยชอบด้วยกฏหมาย ก็ให้ขายได้ เว้นแต่มีกฎหมายหรือระเบียบกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

                 ข้อ 48  การขายทอดตลาดของกลาง ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนแล้วแต่กรณี สั่งตั้งคณะกรรมการอย่างน้อย 3 นาย ประกอบด้วยนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นกรรมการดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป
                 เมื่อคณะกรรมการได้รับคำสั่งให้จัดการขายทอดตลาดแล้ว ให้ประกาศขายทอดตลาดโดยกำหนดวันขายภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ถ้าเป็นของเสียง่ายหรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย เสื่อมค่า เสื่อมราคา หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะเกินส่วนค่าของกลางนั้น จะกำหนดวันขายให้เร็วกว่านั้นก็ได้
                 ประกาศขายทอดตลาดให้ระบุรายการจำนวนสิ่งของ วันเวลา และสถานที่ที่จะขายทอดตลาด ตลอดจนรายละเอียดเงื่อนไข วิธีการขาย และการชำระราคาไว้ด้วย โดยให้ปิดประกาศไว้ที่สถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ และสถานที่ประกาศสาธารณะอย่างน้อย 2 แห่ง ถ้าของนั้นมีราคามาก ให้ประกาศแจ้งความทางวิทยุในเครือข่ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยอีกส่วนหนึ่ง 
                 วิธีการขายทอดตลาดให้ปฏิบัติตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้คณะกรรมการจัดการขายให้แก่ผู้ให้ราคาสูงสุด ถ้ามีเหตุที่ทำให้ผู้ให้ราคาสูงสุดไม่สามารถจะซื้อได้หรือราคาที่มีผู้ให้สูงสุดไม่สมกับของที่จะขาย คณะกรรมการจะไม่ขายและจัดให้มีการขายทอดตลาดใหม่ตามวิธีการเดิมก็ได้   
                 ผู้ซื้อทอดตลาดจะต้องชำระเงินสดหรือตามวิธีการที่กำหนดและรับของไปในวันนั้น ถ้าของที่ขายเป็นของใหญ่ หรือมีราคามาก จะขอรับของหรือชำระราคาในวันหลังก็ได้ โดยให้เรียกมัดจำไว้เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของราคาที่ตกลงซื้อขายนั้น ระยะเวลาที่รับของหรือชำระราคา ส่วนที่เหลือจะต้อง ไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันขายทอดตลาด โดยให้ลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้เป็นหลักฐาน 

                 ข้อ 49  ของกลางสิ่งใดที่จะขายทอดตลาด ถ้าเห็นว่าของกลางนั้นเป็นประโยชน์ใช้ในราชการตำรวจได้ ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้กำกับการหรือเทียบเท่า หรือผู้รักษาราชการแทน รายงานเสนอเหตุผลไปยังผู้บังคับการ หรือผู้รักษาการแทน เป็นผู้พิจารณาสั่งก่อนการขายทอดตลาด ทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการ 

                  ข้อ 50  ของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินและเป็นของที่ชำรุดเสียหายไม่มีราคาหรือเป็นของที่ปราศจากราคาโดยสภาพของมันเอง หรือเป็นของบุคคลไม่อาจมีได้โดยชอบหรือเป็นของที่ไม่ควรขาย ให้สำรวจเสนอหัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน แล้วแต่กรณี สั่งทำลายหรือส่งไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการนั้นต่อไป 

                   ข้อ 51  ของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินและเป็นโบราณวัตถุ ของแปลกประหลาดซึ่งควรจะเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่อื่นใด ไม่ให้ขายหรือทำลาย ให้ส่งไปยังหน่วยงานหรือสถานที่นั้น

                   ข้อ 52  ของกลางรายใดสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ถ้ามีผู้อ้างเป็นเจ้าของ ให้ผู้อ้างนำหลักฐานมาแสดง หากนำหลักฐานมาแสดงไม่ได้หรือไม่นำมามอบ ให้พนักงานสอบสวนส่งของกลางนั้นไปตรวจสอบที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10 พิสูจน์หลักฐานจังหวัด กองสรรพาวุธ หรือหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ตรวจพิสูจน์ของกลางอื่น แล้วแต่กรณี  ถ้าไม่ตรงกับตำหนิรูปพรรณทรัพย์ที่มีผู้มาแจ้งความไว้ ให้หน่วยงานดังกล่าวประกาศโฆษณาหาเจ้าของ เช่นเดียวกับการเก็บของตกที่มีผู้เก็บได้

(ข้อคิดเห็น - กล่าวโดยสรุป การคืนของกลางมีกำหนดเวลาดังที่ได้กล่าวไว้แล้วตามลักษณะ 4 ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางเป็นผู้แจ้งให้ผู้มีสิทธิได้รับทราบ แต่ถ้าพ้นกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่ได้แจ้ง ก็ให้ถือว่าผู้มีสิทธิได้รับทราบการแจ้งนั้นแล้ว ถ้าเป็นของเสียง่ายก็ให้จัดการขายทอดตลาดก่อนได้ ส่วนของกลางคดีอาญาที่ตกเป็นของแผ่นดินและควรขายให้แก่บุคคลที่มีได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ขายได้ ในการขายทอดตลาดให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานแล้วแต่กรณีสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดการขายทอดตลาดภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง เว้นแต่เป็นของเสียง่าย ส่วนของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินและชำรุดเสียหายไม่มีราคา ก็ให้สั่งทำลายหรือส่งไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการนั้นต่อไป ส่วนของการที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหรือไม่มีหลักฐานมาแสดง ให้พนักงานสอบสวนส่งของกลางนั้นไปตรวจสอบที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรหรือที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบตำหนิรูปพรรณทรัพย์และโฆษณาหาเจ้าของ)